มรดก 2465: ตอนที่ 3 ยุติธรรมสำหรับหญิง

นพพร สุวรรณพานิช สะสม

[คลิกที่นี่เพื่อดูรายการหนังสือพิมพ์ทั้งหมดที่สแกนแล้ว พร้อมคำนำเสนอ “แด่ความทรงจำในปี พ.ศ. 2553” โดย เฌอทะเล สุวรรณพานิช]

เนื้อหาคัดสรรในตอนที่ 3 อันเป็นตอนสุดท้ายนี้ เป็นข้อเขียน 3 ชิ้นที่สะท้อนสถานการณ์ของผู้หญิงในสังคมไทยเมื่อร้อยปีที่แล้ว ทั้งในบ้าน บนรถโดยสาร ในพระนคร ตามหัวเมือง และในตัวบทกฎหมาย ที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียนอันเป็นรูปแบบจำเพาะตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร นั่นคือ งานเขียนในลักษณะจดหมายจากผู้อ่านที่ส่งถึงบรรณาธิการ, จดหมายโต้ตอบความเห็นที่เคยมีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อีกฉบับ และคอลัมน์รายงานข่าวสารในแวดวง

ชิ้นแรกที่คัดมาลงนี้ เป็นจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ กรรมกร หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ผู้จัดทำแถลงเป้าหมายที่มาไว้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่ “ทำกันอย่างใจนักเลงแท้ๆ และมุ่งผลสอดส่งช่วยทุกข์ยากต่อผู้ได้รับความเดือดร้อนกดขี่จริงๆ”  สำหรับจดหมายฉบับที่คัดมานี้ บ.ก. มีแก่ใจแก่ผู้ถูกกดขี่ได้พาดหัวจดหมายจากผู้อ่านสตรีท่านหนึ่งไว้ให้อย่างผึ่งผายเป็นเรื่องเปิดเล่มว่า “สิทธิสตรีสยาม” แม้ว่าตัว บ.ก. เองก็จะยังอ้ำๆอึ้งๆอยู่ว่าการจะสร้างความเสมอภาคยุติธรรมแก่สตรีคงมิใช่เรื่องง่าย ต่อให้เขาเองจะมีใจ “เห็นหัวอกอยู่บ้าง” ก็ตาม

ชิ้นที่สอง จากหนังสือพิมพ์ กรรมกร เช่นกัน เป็นจดหมายจาก “นายแก้ว ใจดี” ที่เขียนมาโต้แย้งผู้ใช้นามว่า “ผ.ก.” ซึ่งมีข้อเขียนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทย เรื่องข้อเสนอที่จะให้รัฐบาลออกพระราชบัญญัติ “ห้ามมิให้ชายไปสมสู่กับหญิงนครโสเพณีเถื่อน” โดยนายแก้ว ใจดีบอกว่า “ความเห็นนี้ข้าพเจ้ายังไม่ขอจับมือด้วย” ด้วยเหตุผลหนึ่งคือว่า ในเมื่อในบ้านเมืองนี้ชายยังมีภรรยาได้หลายคนและโดยหลายทาง “เช่นโดยทางแต่งงาน, พระราชทาน, ได้เสียกันเอง” รวมทั้งอาจมีภรรยาลับได้ “ทั้งหญิงซึ่งมิได้เปนภรรยาชาย ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะสละสิทธิ์บางอย่างของตนให้ชายล่วงเกินได้โดยกฎหมายหรือประเพณีไม่ถือ” (!) เมื่อเป็นเช่นนี้จึงย่อมยังมีข้ออ้างมากมายสำหรับชายที่จะเลี่ยงว่าโสเภณีนั้นคือภรรยาหรือนางบำเรอปกติธรรมดา  การออกกฎหมายเอาผิดชายในเรื่องโสเภณี “จึงเสมอกับว่าเอาตะกร้าช้อนน้ำ”

ชิ้นที่สาม เป็นข้อเขียนลักษณะข่าวในแวดวง หรือกึ่งๆ ข่าววงใน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหนึ่งใน “ความจำนงค์หมาย” เจ็ดประการของหนังสือพิมพ์ชื่อประหลาดว่า “ขาวกับดำ ” ฉบับนี้ ที่ประกาศไว้ในหน้าแรกว่า “เพื่อได้สะกิดเตือนใจเจ้าน่าที่ผู้ปฏิบัติราชการ” จึงไม่น่าประหลาดใจที่พบข่าววงในในลักษณะท้วงติงหรือมีข้อเสนอต่อการทำงานของตำรวจบ้าง กระทรวงศึกษาบ้าง หรือกระทั่งเจ้าคุณที่มาเรี่ยไรเงินจากข้าราชการชั้นผู้น้อยบ้าง ส่วนที่สะดุดตาเราคือข้อท้วงติงต่อผู้ตรวจราชการตามหัวเมือง เช่น มณฑลภูเก็จ มณฑลพายัพ ที่มีการพาเด็กสาวต่างหัวเมือง “ลงมาเก็บ” ด้วย โดยเห็นว่าจะทำให้ชีวิตของ “เด็กสาวผู้ต้องกรรม” นั้นต้องไปสู่หายนะ ทั้งยังยกเหตุว่าจะเป็นการ “ฝ่าฝืนพระราชนิยม” ของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ที่เคย “ห้ามไว้เปนเด็ดขาดถึงเรื่องข้าราชการไปเมืองลาวเอาผู้หญิงลาวทำเมีย” (!)

ข้อน่าสะดุดเป็นที่สุดของหนังสือพิมพ์ ขาวกับดำ นี้ อยู่ที่การตีพิมพ์รูปและนามของเจ้าของหนังสือไว้เด่นหราบนหน้าแรก และปรากฏว่าเธอเป็นสตรี! นามว่า “นางถม สุสาขา” ส่วนบรรณาธิการนามว่า “กี้ฮง” นั้น สันนิษฐานจากภาษาในข้อเขียนได้ว่าเป็นชาย ผู้ไม่ลังเลที่จะขอเป็นฝ่ายเรียกร้องความยุติธรรมจากสตรี (อย่างน้อยก็บนรถราง) บ้างว่า “เมื่อผู้ชายมีมิทจิตรฉันท์ใด ผู้หญิงก็ควรมีมิทใจตอบบ้าง!”


“ที่ดิฉันกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความถึงบุรุษทั่วไป เพราะที่ท่านดีก็มีมากเหมือนกัน แต่ส่วนมากนั่นแหละเปนอย่างดิฉันว่า และท่านผู้ดีมียศศักดิ์มาก ก็ยิ่งซ้ำร้ายใหญ่ ชอบใช้หรือเหยียดภรรยาต่างทาษ”

“ความรัก—แม้ไม่มีตัว และไม่มีประมาณหรือหมดเปลือง ดังนั้นก็ดี สตรีทุกคนก็ย่อมไม่พอใจจะให้สามีของเขาแบ่งความรักนั้นให้แก่หญิงอื่น และก็สมจริง เพราะชายที่มีภรรยาหลายคน ย่อมยากที่จะเฉลี่ยความรักให้เสมอกันได้ หรืออีกนัยะ๑ยากที่จะคิดว่า ความรักระหว่างเขาจะมากเท่ากับความรักของผัวเดียวเมียเดียว บุรุษไม่พอใจจะให้ใครแตะต้องภรรยาของตนฉันใด สตรีซึ่งมีชีวิตจิตต์ใจ ก็ย่อมมีความคิดในทำนองเดียวกัน”

จาก กรรมกร ปีที่ ๒ เล่ม ๓๓ วันเสาร์ที่ ๑๓ ตุลาคม พ,ศ, ๒๔๖๖ (pdf)
คอลัมน์ “สิทธิสตรีสยาม” น่า ๕๑๓-๕๑๕

ถนนเจริญกรุง
วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๖

คำนับมายังท่านบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรรมกร ทราบ

ดิฉันได้ยินข่าวระบือมานานแล้วว่าท่านเปนคนตรง ไม่มีความลำเอียงในผู้ใด จึงขอส่งความเห็นนี้มายังท่าน ถ้าไม่รังเกียจแล้ว โปรดนำลงในน่ากระดาษของท่านด้วย

เรื่องที่ดิฉันจะพูดในวันนี้ ก็คือสิทธิของสตรีสยาม สิทธิของสตรีสยาม ณ เวลานี้ ยังอยู่ในฐานะที่น้อยหน้าทั้งนอกบ้านในบ้าน และตลอดจนกระทั่งสิทธิตามกฎหมายของบ้านเมือง ความคิดของบุรุษเปนส่วนมาก มักจะคิดดูถูกสตรีด้วยประการต่างๆ เช่นเขาไม่เห็น หรือไม่พยายามจะมอง ว่าสตรีเปนบุคคลธรรมดากับเขา เหยียดสตรีประดุจตุ๊กกระตากล อันเปนวัตถุสำหรับบรรเทิงใจหรือไรเท่านั้น นี้เปนความคิดที่ผิดอย่างเอก เพราะพวกดิฉันสตรีเปนบุคคลธรรมดา จะต่างกันก็เพียงความอ่อนแอ ถ้าท่านบุรุษทั้งหลายไม่พยายามจะลืมตัว หรือเห็นแก่สุขส่วนตัวจนเกินไปก็คงคิดได้

สตรีโดยมาก ที่ออกเรือนมีสามี พ้นจากความบังคับบัญชาของบิดามารดา หรือผู้ปกครอง แทนที่จะมีอิศระมักจะต้องตกอยู่ในความกดขี่ของชายผู้สามีเปนส่วนมาก ที่ดิฉันกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความถึงบุรุษทั่วไป เพราะที่ท่านดีก็มีมากเหมือนกัน แต่ส่วนมากนั่นแหละเปนอย่างดิฉันว่า และท่านผู้ดีมียศศักดิ์มาก ก็ยิ่งซ้ำร้ายใหญ่ ชอบใช้หรือเหยียดภรรยาต่างทาษ

ส่วนทางกฎหมายของบ้านเมืองหรือประเพณีก็ยังมีอยู่อีกหลายประการที่แบ่งสิทธิของสตรีน้อยกว่าบุรุษ เช่นในลักษณะผัวเมียมีว่า หญิงชายอยู่ด้วยกัน ต่างไม่มีสินเดิมหรือมีสินเดิมด้วยกัน เวลาแบ่ง ชายได้ ๒ ส่วน หญิงได้เพียงส่วนเดียว อีกข้อ๑ ชายมีสินเดิมแต่ฝ่ายเดียวหญิงไม่ได้ แต่หญิงมีสินเดิมฝ่ายเดียว ชายก็คงได้แบ่งสินสมรศ๑ส่วน โดยอ้างว่าหากชายเปนผู้รักษาดังนี้เปนต้น ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูเถิด

สิทธิอีกประการ๑สำคัญมาก และดิฉันเห็นว่า เกี่ยวกับความเจริญของบ้านเมืองด้วย คือสิทธิที่กฎหมายของบ้านเมืองอนุญาต ให้ชายมีภรรยาได้หลายคน เรื่องนี้ตามที่ดิฉันทราบมา ประเทศที่ศิวิลัยซ์แล้ว เช่นยุโรปและอเมริกา เขามีกฎหมายห้าม ถ้าชายใดฝ่าฝืนก็มีโทษอาญา อาจต้องถูกจำคุกก็ได้ ประเทศสยามเรา แท้จริงในเวลานี้ ความเจริญก็ไม่น้อยกว่าประเทศอื่น ถ้าจะมีกฎหมายเช่นเดียวกับเขาก็จะงามแก่ประเทศยิ่งขึ้น

ผลดีและผลร้าย ในเรื่องอนุญาตให้ชายมีภรรยาคนเดียว หรือไม่จำกัดนั้น เปนผลอัน๑ซึ่งเกี่ยวแก่ความเจริญของบ้านเมือง ประเทศใดก็ดีจะรุ่งเรืองหรืออย่างที่เรียกกันว่า ศิวิลัยซ์ ก็ต้องอาศรัยความสงบของบ้านเมืองเปนข้อใหญ่ ความสงบในครอบครัว เปนส่วน๑ของบ้านเมือง ถ้าภายในครอบครัว ไม่มีความสงบ บ้านเมืองก็จะสงบไม่ได้โดยไม่ต้องสงสัย ครอบครัวจะสงบได้อย่างไร ก็เห็นได้ว่า พ่อบ้านและแม่บ้านนั้นแหละเปนผู้ทำความสงบ หาใช่ผู้อื่นไม่ พ่อบ้านแม่บ้านหรือนัยะ๑สามีภรรยาจะปกครองกันอยู่ด้วยสันติสุข ก็ต้องอาศรัยความรัก ความสามัคคี และความเอาอกเอาใจซึ่งกันและกัน ถ้าฝ่าย๑ฝ่ายใด คิดเอาใจออกหาก ก็ยากที่จะหาความสงบ ให้มีในครอบครัวได้ ความรัก—แม้ไม่มีตัว และไม่มีประมาณหรือหมดเปลือง ดังนั้นก็ดี สตรีทุกคนก็ย่อมไม่พอใจจะให้สามีของเขาแบ่งความรักนั้นให้แก่หญิงอื่น และก็สมจริง เพราะชายที่มีภรรยาหลายคน ย่อมยากที่จะเฉลี่ยความรักให้เสมอกันได้ หรืออีกนัยะ๑ยากที่จะคิดว่า ความรักระหว่างเขาจะมากเท่ากับความรักของผัวเดียวเมียเดียว บุรุษไม่พอใจจะให้ใครแตะต้องภรรยาของตนฉันใด สตรีซึ่งมีชีวิตจิตต์ใจ ก็ย่อมมีความคิดในทำนองเดียวกัน เมื่อกิจการในครอบครัวเปนดังนี้ ผลก็คือความทะเลาะเบาะแว้ง และความแตกสามัคคีในครอบครัว ซึ่งเปนเหตุทำลายความสงบ และสันติสุขของครอบครัวอย่างยิ่ง

ตามที่ดิฉันกล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เพียงแต่ข้อสำคัญบางอย่าง ครั้นจะกล่าวมากไป ก็ให้เกรงใจท่านในเรื่องน่ากระดาษ ความประสงค์ที่กล่าวแล้วก็มีเพียงว่า จะให้เปนข้อเตือนใจบุรุษทั้งหลายให้คิดเมตตากรุณาแก่สตรีผู้เปนเพศอ่อนแอ และอย่าได้คิดแต่สุขส่วนตัว หรือไม่พยายามจะเห็นว่าสตรีเปนบุคคลมีชีวิตจิตต์ใจ เช่นเดียวกับท่าน เมื่อดิฉันมีเวลาว่าง ก็จะได้เขียนมาคำนับท่านอีกต่อไป

ในที่สุด ขอแสดงความนับถือมายังท่านด้วย

ทองเจือ

(ตามจดหมายฉบับนี้ คิดดูก็ออกจะเห็นหัวอกอยู่บ้าง แต่การที่จะเปลี่ยนแปลงสิทธิของสตรี โดยเร็วพลันนั้น ย่อมเปนไปไม่ได้ เพราะเปนธรรมเนียมประเพณี ของบ้านเมืองเรามาดั่งนั้น เราเชื่อว่า รัฐบาลของเราคงจะคิดอยู่เหมือนกัน บางทีจะมีอุปสรรคอะไรสักอย่าง๑กระมัง จึงจัดการให้เปนไปโดยเร็วไม่ได้ —บ.ก.ก.)


“ถ้ายิ่งเปนบัญญัติที่ลบล้างพระราชบัญญัติเดิมหรือประเพณีนิยมของบ้านเมืองแล้วก็จำเปนที่รัฐบาลจะต้องคิดเกรงอกเกรงใจประชาชนยิ่งขึ้น, มิฉนั้นก็จะเปนการขัดใจกันซึ่งอาจเกิดผลร้ายขึ้นได้. นี้เปนหลักแห่งการออกพระราชบัญญัติซึ่งประเทศสยามและประเทศอื่นๆที่ศิวิลัยซ์แล้วเช่นประเทศอังกฤษได้ถือเปนหลักอยู่ทุกวันนี้. ตัวอย่างของประเทศสยามก็คือกฎหมายลักษณผัวเมีย … ซึ่งรัฐบาลไม่กล้าจะเปลี่ยนแปลงโครมคราม, ซึ่งแม้ตามที่เปนอยู่ไม่เปนการยุติธรรมสำหรับหญิงก็ดี.”

จาก กรรมกร ปีที่ ๒ เล่ม ๑๑ วันเสาร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ,ศ, ๒๔๖๖ (pdf)
คอลัมน์ “การปราบหญิงนครโสเพณีอย่างใหม่” น่า ๑๖๒-๑๖๕

โดงนายแก้วใจดี

ผ.ก. เขียนความเห็นลงในหนังสือพิมพ์ไทยฉบับวันพุฒที่๒๕เดือนก่อน ให้ชื่อเรื่องว่า “วิธีปราบหญิงนครโสเพณีอย่างใหม่” รวมใจความสั้นๆว่ารัฐบาลควรจะออกพระราชบัญญัติห้ามมิให้ชายไปสมสู่กับหญิงนครโสเพณีเถื่อน, ถ้าขัดขืนก็ให้ลงโทษจำคุกเสีย๒วันบ้าง๓วันบ้าง,เพื่อให้เข็ดหลาบและเพื่อเปนทางป้องกันหรือตัดอาชีวะของหญิงจำพวกนี้. ความเห็นนี้ข้าพเจ้ายังไม่ขอจับมือด้วย.

โวหารของ ผ.ก. ดูเหมือนจะเข้าใจว่า การของพระราชบัญญัตินั้น,เปนการทำง่าย สักแต่ว่าใครชอบใจอย่างไร, ต้องการจะระวังรักษาผลประโยชน์ของใคร, หรือโกรธเคืองการกระทำของหมู่คณะใด, ก็ร่างขึ้นนำถวายพระเจ้าแผ่นดินก็เปนอันสำเร็จ. แท้จริงในเรื่องออกพระราชบัญญัติไม่ว่าจะเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องอะไร ไม่ใช่เปนการง่ายดุจผ.ก.เข้าใจ, รัฐบาลหรือนัย๑คณะเสนาบดี, จำเปนต้องใคร่ครวญอย่างยิ่ง, ต้องนึกถึงผลได้ผลเสีย, ตรวจตราพระราชบัญญัติหรือกฎหมายของประเทศที่มีอยู่ในเวลานี้, ความสามารถของเจ้าพนักงานผู้มีน่าที่ๆจะรักษาให้การณ์ดำเนิรไปตามพระราชบัญญัติและความสามารถของพลเมืองผู้ซึ่งจะต้องประติบัทตาม, ความเสมอภาคของประชาชนพลเมือง, ทั้งถ้ายิ่งเปนบัญญัติที่ลบล้างพระราชบัญญัติเดิมหรือประเพณีนิยมของบ้านเมืองแล้วก็จำเปนที่รัฐบาลจะต้องคิดเกรงอกเกรงใจประชาชนยิ่งขึ้น, มิฉนั้นก็จะเปนการขัดใจกันซึ่งอาจเกิดผลร้ายขึ้นได้. นี้เปนหลักแห่งการออกพระราชบัญญัติซึ่งประเทศสยามและประเทศอื่นๆที่ศิวิลัยซ์แล้วเช่นประเทศอังกฤษได้ถือเปนหลักอยู่ทุกวันนี้. ตัวอย่างของประเทศสยามก็คือกฎหมายลักษณผัวเมีย (ดู ผัวเมีย มาตรา ๖๘ มรดก มาตรา ๕) ซึ่งรัฐบาลไม่กล้าจะเปลี่ยนแปลงโครมคราม, ซึ่งแม้ตามที่เปนอยู่ไม่เปนการยุติธรรมสำหรับหญิงก็ดี. สำหรับประเทศอังกฤษก็ดี กฎหมายลักษณมรดกซึ่งภาค๑ของประเทศอังกฤษถือกันว่าบุตร์หัวปีเปนผู้ได้รับมรดกที่ดินทั้งหมด, อีกภาค๑มีว่าบุตร์สุดท้องเปนผู้ได้รับมรดกที่ดินทั้งหมด. นี่ก็เปนการ[ไม่]ยุติธรรมสำหรับบุตร์อื่นๆอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลอังกฤษก็ไม่กล้าจะเปลี่ยนแปลงประการ๑ประการใดเพราะเกรงใจราษฎรหรือต้องการรักษาประเพณีโบราณนั่นเอง.

การที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติเอาโทษแก่ชายที่ไปสู่หญิงนครโสเพณีเถื่อน, ก็จำเปนต้องนึกถึงหลักตามที่กล่าวแล้วในทำนองเดียวกัน.

ข้าพเจ้าไม่อยากจะกล่าวให้เปนการหมางใจแก่ผ.ก.ซึ่งจะเปนใครก็ตาม แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าความเห็นของผ.ก.ซึ่งแนะนำให้รัฐบาลออกพระราชบัญญัติที่กล่าวแล้วนั้น, เสมอกับแนะนำให้ออกพระราชบัญญัติห้ามไม่ให้ซื้อในเมื่อยังอนุญาตให้กระทำการแลกเปลี่ยนอย่าง๑อย่างใด นอกจากซื้อได้, หรือเสมอกับอนุญาตให้เดิรเรือกลไฟในท้องน้ำได้ แต่ห้ามไม่ให้มีคลื่น, เพราะอะไร? ผู้รู้กฎหมายซึ่งรวมทั้งผ.ก. (ถ้าไม่ลืมนึก) คงตอบพร้อมกันว่า, เพราะกฎหมายลักษณผัวเมียของเรายังเปนอยู่ตามประเพณีเดิมทั้งดุ้น. กล่าวคือ, ชายยังมีภรรยาได้หลายคน, การเปนสามีภรรยายังมีอยู่หลายทางเช่นโดยทางแต่งงาน, พระราชทาน, ได้เสียกันเอง, (ดูผัวเมียข้างต้น และมาตร ๗๔,๘๕,๘๖,๑๑๕,๑๔๑, ฯลฯ, และชายอาจมีภรรยาลับได้ ไม่เปนการผิดพระราชกำหนดกฎหมาย ทั้งหญิงซึ่งมิได้เปนภรรยาชายก็ยังมีสิทธิ์ที่จะสละสิทธิ์บางอย่างของตนให้ชายล่วงเกินได้โดยกฎหมายหรือประเพณีไม่ถือว่า การกระทำเช่นนั้นเปนการผิดต่อประชาชาหรือกระทำให้เกิดความหวาดหวั่นครั่นคร้ามต่อสาธารณชนอย่าง๑อย่างใด. เช่นนี้แหละข้าพเจ้าจึงเห็นว่าพระราชบัญญัติที่ผ.ก.แนะนำนั้นน่าจะไม่ได้ผลสมความมุ่งหมาย, เพราะชายอาจเลี่ยงได้หลายร้อยทางเช่นเลี่ยงว่าหญิงนั้นเปนภรรยาของเขาหรือเปนนางบำเรอของเขาเหล่านี้เปนต้น. การจึงเสมอกับว่าเอาตะกร้าช้อนน้ำหรือเสมอกับตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว.

อีกประการ๑, เมื่อนึกถึงหลักแห่งการออกพระราชบัญญัติ, ก็เห็นว่ายังมีเหตุขัดข้องอยู่อีกหลายประการ เช่น ถ้าจะออกพระราชบัญญัตินี้, จำเปนต้องแก้ไขกฎหมายลักษณะผัวเมียเสียก่อน, แต่ก็ทราบแล้วว่าจะกระทำเช่นนั้นไม่ใช่ง่าย, เพราะกฎหมายผัวเมียของเราเกิดจากประเพณีและทำเนียมมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ส่วนความสามารถของเจ้าพนักงารผู้ซึ่งรักษาพระราชบัญญัตินี้,ก็ไม่เชื่อว่าจงจัดให้เปนที่เรียบร้อยได้. ผลแห่งการออกพระราชบัญญัติก็จะได้แต่เพียงความเย้ยหยันของพลเมืองซึ่งรวมทั้งชนต่างด้าว และจะทำให้พลเมืองคิดว่ารัฐบาลเราเข็มงวดในเรื่องเล็กๆน้อยเกินไป.

อย่าลืมว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันหญิงนครโสเพณีนั้น, ท่านเอาโทษหญิงในฐานไม่ได้รับอนุญาตแห่งการประพฤติตนลงเปนหญินครโสเพณี ท่านไม่ได้เอาโทษในการกระทำอันเปนส่วนตัวประเภทนั้นๆ ส่วนการกระทำนั้นเปนแต่เพียงสักขีชี้ให้เห็นว่าผู้นั้นประพฤติตนเองหญิงนครโสเพณี.

ทางอันควรซึ่งพอจะจัดการได้นั้น, ข้าพเจ้าเห็นว่าเจ้าน่าที่กองพิเศษยังไม่มีความจำเปนอย่างไรที่จะต้องรบกวนรัฐบาลให้ออกพระราบบัญญัติในเรื่องเล็กๆน้อยๆดุจความเห็นของผ.ก. เพียงแต่จัดการตรวจตราทุกหนทุกแห่งทุกช่อง, จับกุมฟ้องร้องกันจริงๆและนำคดีเหล่านี้ส่งให้หนังสือพิมพ์ต่างๆประกาศในหน้ากระดาษพร้อมทั้งชื่อจำเลยคือตัวหญิงผู้รับจ้าง, ชื่อพยานคือตัวชายผู้จ้างเท่านั้นก็พอ. ข้าพเจ้าเชื่อว่า คงจะทำให้ชายหนุ่ม—แก่—เฒ่า, รวมทั้งข้าราชการผู้มียศถาบรรดาศักดิ์, ซึ่งหลงไหลในการนี้เขดขยาดไม่มากก็น้อย.

นายแก้ว ใจดี

(เรื่องนี้เห็นว่าเปนการโต้ตอบกันด้วยข้อปัณหา, มิใช่เปนเรื่องส่วนตัวกับพระสัคทัด. จึงนำลงให้ —บ.ก.ก.) [“พระสัคทัด” น่าจะหมายถึงพระสันทัดอักษรสาร (ฮอก อักษรานุเคราะห์) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไทย]


“การที่เอาเด็กสาวต่างหวเมืองลงมาเก็บนั้น เปนเครื่องน่าหวาดเสียวและเปนช่องทางที่เด็กสาวผู้ต้องกรรมนั้น จะดำเนินไปสู่ความหายะนะมากกว่าที่จะได้รับความเจริญตามธรรมชาติอันเปนพลเมืองดี ถ้าเคราะห์ดีผีคุ้มได้อยู่เปนคู่ครองคู่ผัวตัวเมียกันตามกฎหมายก็เปนเดชะบุญคุณพระช่วย”

 “เมื่อผู้ชายมีมิทจิตรฉันท์ใด ผู้หญิงก็ควรมีมิทใจตอบบ้าง!”

จาก ขาวกับดำ ปีที่ ๑ เล่ม ๔ วันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ (pdf)
ไม่ทราบชื่อคอลัมน์ น่า ๖๒-๖๔ (ขาดตอนต้น)

…อย่างเช่นกลับมาจากตรวจการมณฑลภูเก็จและมณฑลพายัพ เขาก็ว่าพาเอาลงมาด้วย การที่เอาเด็กสาวต่างหวเมืองลงมาเก็บนั้น เปนเครื่องน่าหวาดเสียวและเปนช่องทางที่เด็กสาวผู้ต้องกรรมนั้น จะดำเนินไปสู่ความหายะนะมากกว่าที่จะได้รับความเจริญตามธรรมชาติอันเปนพลเมืองดี ถ้าเคราะห์ดีผีคุ้มได้อยู่เปนคู่ครองคู่ผัวตัวเมียกันตามกฎหมายก็เปนเดชะบุญคุณพระช่วย แต่ถ้าเกิดความเบื่อหน่ายสละละทิ้งเสียเมื่อไรก็ไม่ต้องสงไสยเลยด้วยความจำเปนที่ทำให้หญิงนั้นต้องจำใจไปสู่ความชัวโดยทันตาเห็น เพราะเด็กนั้นเปนผู้ไม่เคยถิ่นและไม่มีผู้รู้จักมักคุ้น หมดหนทางเข้าก็ต้องวิ่งลงสู่ความชั่วเท่านั้น ดังที่มีตัวอย่างมาแล้วเปนเอน็ก พระราชนิยมของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปิยะมหาราชได้ทรงห้ามไว้เปนเด็ดขาดถึงเรื่องข้าราชการไปเมืองลาวเอาผู้หญิงลาวทำเมียมีบ่งชัดอยู่แล้ว จึงไม่สมควรกับข้าราชการที่จะประพฤติฝ่าฝืนพระราชนิยมนั้น อนึ่งเงินพลีศึกษาก็มีข่าวเนืองๆถึงการที่เงินเปนอันตรทานไปบ่อยๆ ซึ่งเปนเวลาไม่กี่มากน้อยก็เกิดมีเรื่องราวฉาวโฉ่ขึ้นหลายเรื่องแล้ว ฉนั้นกระทรวงศึกษาอันมีน่าที่เปนครูคน ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะใหเกิดมีเหตุร้ายอันไม่สมควรเช่นนั้น ถ้าไม่ระวังให้ดีคริดิ็ตความเชื่อถือจะเสื่อมเสียนะขอรับ ขอได้โปรดพิเคราะห์ให้มากๆสำหรับกิจการณ์ข้างน่าต่อไป

เมื่อผู้ชายมีมิทจิตรฉันท์ใด ผู้หญิงก็ควรมีมิทใจตอบบ้าง! ผู้ที่ขึ้นรถรางอยู่เสมอ คงได้เห็นประจักษ์กับในตาแทบทุกวี่ทุกวัน หรือเคยได้ถกกับตัวเองมาแล้ว คือเวลาที่ผู้ชายนั่งไปบนรถรางด้วยความปรกติ เมื่อมีผู้หญิงมาขึ้นรถ ในขณะที่นั่งไม่ว่าง ผู้ชายจำเปนต้องลุกขึ้นยืนปล่อยที่นั่งให้กับผู้หญิง โดยแสดงอัทยาศัยสุภาพให้แก่เพทที่อ่อนแอ อันเปนจรรยาของสุภาพชน แตฝ่ายแม่ผู้หญิงไม่ได้แสดงจรรยาความสุภาพตอบแทนเลยแม้แต่สักนิดเดียว แต่เพียงก้มศีร์ษะหรือยิ้มแย้มตอบขอบใจสักน้อยหนึ่งก็หามิได้ ถ้ายิ่งเปนนางสาวนักเรียนด้วยแล้วก็ยิ่งแสดงความวางถ้าขมึงทึงมากขึ้น นี่อย่างไรกันเล่าหล่อนจ๋า ถึงได้พากันละทิ้งจรรยาสุภาพสัตรีเสียเช่นนั้น พวกแม่ครูควรสั่งสอนให้รู้จักมีอัทยาศรัยดีขึ้นเสียบ้าง การแสดงความขอบใจต่อความเอื้อเฟื้อนั้น เปนสิ่งสำคัญที่เปนธรรมดาของสุภาพชนเขาประพฤติกันทั่วโลก การแลกเปลี่ยนความอ่อนน้อมต่อกันเปนศิริมงคล และแสดงให้เห็นซึ้งส่อลงไปถึงดังทีท่านกล่าวว่า “สำเนียงบอกภาษากิริยาบอกสกุล” ในมงคลสูตรมีความว่า “วันทะโกปติวันทะนัง” คือท่านไหว้เราๆต้องไหว้ตอบท่าน เมื่อบุรุษแสดงความสุภาพให้แก่สัตรีก่อน สัตรีสมควรต้องแสดงความสุภาพตอบบุรุษบ้างจึงจะถูก


อ่านตอนที่แล้ว

ซีรี่ส์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Dissident Dreams ได้รับการสนับสนุนโดย Democracy Discourse Series มหาวิทยาลัยเดอลาซาล ประเทศฟิลิปปินส์