มรดก 2465: ตอนที่ 2 ไร้ที่พึ่งในระบบ

นพพร สุวรรณพานิช สะสม

[คลิกที่นี่เพื่อดูรายการหนังสือพิมพ์ทั้งหมดที่สแกนแล้ว พร้อมคำนำเสนอ “แด่ความทรงจำในปี พ.ศ. 2553” โดย เฌอทะเล สุวรรณพานิช]

ราษฎรหันไปพึ่งสิ่งใดเมื่อไร้ที่พึ่งในระบบ? ในตอนที่ 2 ของเนื้อหาคัดสรรจากหนังสือพิมพ์อายุ 100 ปีนี้ มีสามคำตอบ: หันไปพึ่งสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์กว่าสมบูรณาญาสิทธิ์ หันไปพึ่งสื่อมวลชนที่ใช้คนต่างชาติบังหน้า และหันไปพึ่งวิถีอาชญากร


“กระดาดของหนังสือพิมพ์บางและอ่อน ถูเข้าก็ต้องขาดที่ไหนจะสู้ผู้ทรยศทุจริตได้เล่า เพราะเขาเอาสำลีจุกหู หนังปิดหน้าหรือใส่หน้ากากแลลงรากเปนแท่นหินเสียแล้ว ทั้งพระเจ้าก็ทรงโปรดให้เขาเกิดมากระทำการเช่นนี้ ไหนเลยพวกเราจะให้พระเจ้าลงโทษได้อีกเล่า”

จาก กรรมกร ปีที่ ๑ เล่ม ๖ วันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม พ,ศ, ๒๔๖๕ (pdf)
คอลัมน์ “จดหมายบ้านนอก” น่า ๑๒๒-๑๒๓

ตำบล ท่าเรือ
วันที่ ๑๖ มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๕

คำนับมายังท่านบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรรมกร ทราบ

ถ้าไม่เปนการติดขัดต่อระเบียบการของท่าน โปรดนำจดหมายของข้าพเจ้าลงในน่ากระดาดของท่านด้วยจะเปนพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆจนมาถึงหนังสือพิมพ์กรรมกรของท่านได้อุบัติปะติสนธิขึ้น ก็คงยังแต่ร้องว่า พวกเราช่วยกันโค่นอ้ายอำมาตย์ทุจริต แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าป่วยการ เพราะกระดาดของหนังสือพิมพ์บางและอ่อน ถูเข้าก็ต้องขาดที่ไหนจะสู้ผู้ทรยศทุจริตได้เล่า เพราะเขาเอาสำลีจุกหู หนังปิดหน้าหรือใส่หน้ากากแลลงรากเปนแท่นหินเสียแล้ว ทั้งพระเจ้าก็ทรงโปรดให้เขาเกิดมากระทำการเช่นนี้ ไหนเลยพวกเราจะให้พระเจ้าลงโทษได้อีกเล่า

เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้ามามองตรองหาผู้ที่จะเปนที่พึ่งประสิทธิ์ประสาทให้กำจัดเจ้าพวกทุจริตให้เบาบาง หรือหมดไปบ้าง ก็พอดีนึกขึ้นมาได้ว่า

พวกเราควรอ้อนวอนกราบไหว้ขอความกรุณาต่อพระเจ้า๕พระองค์ ขอให้ท่านมาโปรดกำจัดอ้ายพวกเหล่าทุจริตคิดมิชอบต่อชาติไทย ข้าพเจ้าเห็นว่าได้อย่างดี เพราะท่านมากองค์ด้วยกันบางทีจะมีองค์ที่ศักดิ์สิทธิ์อาจปราบอ้ายพวกทุจริตให้ล้มได้โดยเร็ว หรือพวกที่พึงจะทำการทุจริตก็อาจกลับทำดีเปนยุติธรรมได้ ในเมื่อได้เห็นอ้ายตัวมหาวายร้ายล้มไปแล้วเปนตัวอย่าง

โดยความนับถือ
นายบ้านนอก

ตามจดหมายของนายบ้านนอกนี้เราไม่จำเปนจะเห็นพ้องด้วย ขอให้ผู้อ่านวินิจฉัยเอาเองว่า นายบ้านนอกมีความประสงม์อย่างไร? พระเจ้า๕พระองค์คืออะไร? จะมีฤทธิเดชเพียงไหน จะกำจัดอำมาตย์ทุจริตได้อย่างไร? เชิญเลือกเอาตามชอบใจเถิด

บ.ก.ก.


“คำผู้ใหญ่ว่า จิ้งจกทักตัวเดียวยังควรหยุด แต่นี่คนทั้งคนหรือคณะหนึ่ง แลบางทีหลายคนหลายคณะทักท้วง รัฐบาลของเราไม่เคยยอมหยุดเลย นั่นเพราะอะไร? เพราะไม่เชื่อออนเนอร์คนๆนั้นแลคณะหนังสือพิมพ์นั้นหรือ? เปล่าเลย. รัฐบาลเห็นว่าคณะหนังสือพิมพ์ไม่มีอินฟล๊วนซ์พอต่างหาก”

“คณะหนังสือพิมพ์โดยมากเปนชาติไทยแท้ ส่วนบางฉบับที่ต้องใช้คนต่างชาติบังหน้า ก็ด้วยยังไม่มั่นใจในความยุติธรรมของคณะรัฐบาลนัก แต่เมื่อสรุปรวมลงก็คงเห็นว่า ตามที่ตักเตือนแนะนำหรือบางทีกล่าวเสียดสีนั้น ก็ล้วนเปนไปในทำนองหวังดีต่อชาติทั้งสิ้น … โปรดอย่านึกให้บ้าไปเลยว่าคนไทยด้วยกันจะคิดชั่วโฉด เปลี่ยนลัทธิการปกครองหรือมุ่งทำลายความเจริญของรัฐบาลด้วยประการใดดุจชาติอื่นได้กระทำกันมาแล้ว เช่นประเทศจีนซึ่งเปนเพื่อนบ้านใกล้เคียงของเราอันเห็นได้ง่ายที่สุดนี้ แต่ที่ประเทศจีนต้องกระทำดังนั้น ก็ด้วยมีเรื่องราวที่ควรทำอยู่ ตามที่ชาวเราเปนอันมากย่อมซึมอยู่ในใจดีแล้ว”

จาก บางกอกการเมือง ปีที่ ๑ เล่ม ๑๙ วันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ (pdf)
คอลัมน์ “รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ (ต่อ)” หน้า ๓๐๓-๓๐๕ (ขาดตอนจบ)

เราเคยแจงความประสงค์ของคณะหนังสือพิมพ์กับคณะรัฐบาล มาครั้งหนึ่งแล้ว ในเล่ม ๓ วันจันทร์ ที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.นี้ มีความโดยสังเขปว่า คณะรัฐบาลกับคณะหนังสือพิมพ์มีความประสงค์ร่วมกันที่จะให้ประเทศสยามเจริญสมบูรณ์ ไม่ใช่จะแข่งกันใช้อำนาจ เพราะถ้าถือเช่นนั้นแล้ว ฝ่ายใดมีอำนาจแรงกล้ากว่า ก็จะยกอำนาจนั้นขึ้นอ้างเปนธรรม ไหนเลยคณะหนังสือพิมพ์จะกล้ามีเสียงโต้ทานได้ ด้วยคณะหนังสือพิมพ์ (ในประเทศสยามนี้) เปนราษฎรสามัญนี่เอง แต่มีความสามารถกว่าเพื่อนราษฎรด้วยกันบางคนอยู่บ้างในเชิงทุนสติปัญญาแลเชิงกิจการหนังสือพิมพ์ ก็คิดอ่านชักชวนพรรคพวกตั้งหนังสือพิมพ์ขึ้น หวังจะใช้หนังสือนั้นเปนเครื่องเปิดหูเปิดตา แลเปนปากเสียงของพวกเพื่อนราษฎร ซึ่งได้รับความไม่เปนธรรม ขอให้โปรดคิดดูเถิดว่า ราษฎรเปนผู้อาบเหงื่อต่างน้ำก็เพื่อ ๑) ยังอาชีพของตนเองแลครอบครัว ๒) หากำลังส่งเข้าในการอุดหนุนทำนุบำรุงชาติ

เงินเดือนของพวกท่านคุณๆใต้เท้าพระเดชพระคุณ ฯลฯ ซึ่งได้ใช้จ่ายตามโฮเต็ล ซื้อรถยนตร์ขี่ชนแลทับพวกราษฎรตามถนนหนทางอยู่ทุกวันนี้นั้น ก็เปนผลแห่งการอาบเหงื่อต่างน้ำของพวกราษฎรนี่เอง เหตุฉนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปนประมุขแห่งชาติ จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลือกคัดเอาเชื้อพระวงศ์ซึ่งทรงพระปรีชาสามารถหลักแหลม กับพวกราษฎรสามัญที่ฉลาดในหมู่ราษฎรสามัญ ขึ้นตั้งแต่งให้เปนเจ้าน่าที่คอยสอดส่องดูแลระงับทุกข์ภัยของราษฎรให้ราษฎรหมดความกังวลด้วยเหตุอื่น จะได้ตั้งหน้าอาบเหงื่อต่างน้ำช่วยกันหากำลังบำรุงชาติ เจ้าน่าที่ทั้งหมดทุกแพนกนี้แหละ รวมกันเรียกว่ารัฐบาล.

ความเปนอยู่ระหว่างราษฎรกับคณะรัฐบาลนั้น ย่อมมีน่าที่ต้องพึ่งซึ่งกันแลกันอยู่ อำมาตย์ในคณะรัฐบาลคนใด กระทำการโดยซื่อสุจริต มีความอารีเห็นความสุขทุกข์ของทวยราษฎร์ ก็เปนที่รักใคร่สรรเสริญแก่ราษฎรทั่วไป แต่ก็ถ้าไปถูกพวกอำมาตย์ทุจริตคิดเบียดราษฎร์บังหลวงข่มเหงเบียดเบียฬราษฎรอยู่เปนนิตย์เข้าเล่า ราษฎรจะทำอย่างไร? ฟ้องศาลหรือ? ทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าถวายหรือ? เชิญไตร่ตรองให้ซึ้งลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า เรื่องชนิดไร คนชนิดไร ที่จะกล้าทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯถวายหรือฟ้องศาล? ด้วยเหตุดังนี้ราษฎรส่วนมาก จึงลงเนื้อเห็นพร้อมกันว่า วิธีที่จะกำจัดอำมาตย์ทุจริต วิธีขอร้องตักเตือนรัฐบาล วิธีที่จะพาชาติประเทศไปสู่ความเจริญสมบูรณ์นั้น ไม่มีวิธีใดที่จะสดวกแลดีกว่าหนังสือพิมพ์แล้ว เฉภาะแต่ประเทศสยามนี้ ราษฎรได้อาศัยหนังสือพิมพ์อย่างเดียวเปนปากเสียงเจรจากับรัฐบาล เปรียบ[…]สภาเตี้ยๆของราษฎร ถ้ารัฐบาลใช้ความยุติธรรมช่วยพยุงฐานะของหนังสือพิมพ์ให้สูงขึ้นอีก รัฐบาลก็ย่อมได้ความสดวกในการสอดส่องดูแลระงับทุกข์ภัยของราษฎรยิ่งขึ้นด้วย เหมือนการสั่งสอนแนะนำชาวบ้านนอก ๑๐๐ คน อย่างไรเสียคงไม่ได้ผลดีเท่าสอนคนฉลาดเข้าใจกิจการคนหนึ่งในหมู่ชาวบ้านนอก ๑๐๐ คนนั้น แล้วให้คนฉลาดไปสั่งสอนแนะนำในหมู่พวกกันเอง

จริงอยู่, คนเราไม่ดีไปทุกคน ย่อมมีดีบ้างชั่วบ้างฉันใด พวกหนังสือพิมพ์ก็ฉันนั้น เรื่องนี้รัฐบาลควรทราบอยู่ดี แลควรดำริห์ดูว่าความเห็นเรื่องใดในหนังสือพิมพ์ฉบับใดมีน้ำหนักที่ควรจะหยิบขึ้นพิจารณาดูบ้าง เพราะตามที่กระทรวงพระคลังฯ อนุญาตเงินงบประมาณแพนกหนึ่ง ให้กระทรวงแลกรมต่างๆรับหนังสือพิมพ์อ่านประจำอยู่ก็ด้วยความมุ่งหมายจะให้คอยตรวจดูข่าวแลความเห็นในหนังสือพิมพ์เหล่านั้น เปนทางให้ดำริห์หาความเจริญแก่การงานต่อไป ไม่ใช่ให้รับไว้สำหรับอ่านแล้วก็โยนทิ้งเสียหรือทำหูทวนลมไม่ยอมพิจารณาความเห็นของคณะหนังสือพิมพ์ ขอให้ใช้ความคิดอย่างสุขุมกรองดูว่า คณะหนังสือพิมพ์โดยมากเปนชาติไทยแท้ ส่วนบางฉบับที่ต้องใช้คนต่างชาติบังหน้า ก็ด้วยยังไม่มั่นใจในความยุติธรรมของคณะรัฐบาลนัก แต่เมื่อสรุปรวมลงก็คงเห็นว่า ตามที่ตักเตือนแนะนำหรือบางทีกล่าวเสียดสีนั้น ก็ล้วนเปนไปในทำนองหวังดีต่อชาติทั้งสิ้น ชาติไทยเปนชาติ์ไทยแท้ ไม่มีเลือดอื่นปน นับลงมาได้หลายชั่วคนแล้ว โปรดอย่านึกให้บ้าไปเลยว่าคนไทยด้วยกันจะคิดชั่วโฉด เปลี่ยนลัทธิการปกครองหรือมุ่งทำลายความเจริญของรัฐบาลด้วยประการใดดุจชาติอื่นได้กระทำกันมาแล้ว เช่นประเทศจีนซึ่งเปนเพื่อนบ้านใกล้เคียงของเราอันเห็นได้ง่ายที่สุดนี้ แต่ที่ประเทศจีนต้องกระทำดังนั้น ก็ด้วยมีเรื่องราวที่ควรทำอยู่ ตามที่ชาวเราเปนอันมากย่อมซึมอยู่ในใจดีแล้ว

คำผู้ใหญ่ว่า จิ้งจกทักตัวเดียวยังควรหยุด แต่นี่คนทั้งคนหรือคณะหนึ่ง แลบางทีหลายคนหลายคณะทักท้วง รัฐบาลของเราไม่เคยยอมหยุดเลย นั่นเพราะอะไร? เพราะไม่เชื่อออนเนอร์คนๆนั้นแลคณะหนังสือพิมพ์นั้นหรือ? เปล่าเลย. รัฐบาลเห็นว่าคณะหนังสือพิมพ์ไม่มีอินฟล๊วนซ์พอต่างหาก มันจะว่าจะตะโกนร้องอย่างไรเท่าไรก็ช่างมันปะไร ใครจะฟังมัน ข้าจะทำของข้า เมื่อข้าทำหูทวนลมทำไปพอเสร็จแล้ว เรื่องก็หายเปนคลื่นกระทบฝั่งไปตามเคย แลถ้าหนังสือพิมพ์ฉบับใดขืนตะเบ็งเสียงเกินไปไม่รู้จักกาละเทศะ ก็ใช้วิธีโดยทางอ้อม หรือทางลับ เตะมันเข้าเก็บเสีย วิธีเช่นนี้ถ้าเปนคนต่างประเทศฤๅในสัปเย็กต่างประเทศ ก็พอจะร้องให้กงสุลของตัวช่วยให้บ้าง ถึงจะช่วยไม่ได้มาก ก็เพียงผ่อนหนักให้เปนเบา แต่ถ้าเปน [จบหน้า ๓๐๕]


“ประเทศใดยังปรากฎว่า มีจำนวนคนที่ต้องโทษมาก จำนวนนักโทษนั่นแหละ เปนเครื่องวัดการปกครองของประเทศ”

“คนเรายังมีความหวังอยู่ว่าตนจะได้ดิบได้ดี หรือยังพยายามหาคุณความดี ยังแสวงหาชื่อเสียงอยู่ พึงหวังเถิดว่า ผู้นั้นจักเปนผู้ที่ว่านอนสอนง่ายไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่ประสงค์จะประพฤติฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐบาล ถ้าเขาไม่มีหวังดั่งนี้แล้ว ก็พึงเข้าใจเถอะว่า เขาจะทำอะไรก็ทำได้”

จาก กรรมกร ปีที่ ๒ เล่ม ๔๕ วันเสาร์ที่ ๕ มกราคม พ,ศ, ๒๔๖๖ (pdf)
คอลัมน์ “นานาคารม” น่า ๗๑๖-๗๑๘

วัว, ควาย, ช้าง, ม้า, อูฐ, ฬา, เราจะใช้ทรมานมันอย่างไร หรือจะบรรทุกให้หนักสักเท่าไรก็ได้ แม้มันจะมีความรู้สึกว่าหนักสักเพียงไร มันก็ไม่มีเสียงว่าอะไร มันทนไม่ไหวก็ล้มไปด้วยอาการหมดกำลัง

คนเราแม้จะเปนหูป่าตาเถื่อนบ้านนอกขอกนาอย่างไรก็ทำดั่งนั้นไม่ได้ เพราะมันมีปากพูดได้ ถึงมันจะร้องเรียนเอากับใครไม่ได้ มันก็ต้องบ่นพูดในพวกมันหรือมิฉนั้นก็นึกอยู่ในใจ และเมื่อมันถูกกดขี่หนักเข้า จนทนไม่ไหวมันก็ต้องตะเกียกตะกาย ดิ้นไปพักหนึ่ง ฉนั้นผู้มีอำนาจวาสนา อย่าเห็นคนเปนวัวควายช้างม้าอูฐฬาไปเสียหมด

ประเทศใดยังปรากฎว่า มีจำนวนคนที่ต้องโทษมาก จำนวนนักโทษนั่นแหละ เปนเครื่องวัดการปกครองของประเทศ

ประเทศอเมริกา ตามรายงานปรากฎว่า จำนวนนักโทษของเขาได้ลดน้อยลงผิดธรรมดา เนื่องจากรัฐบาลได้ห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายสุรา นี่แสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกันมีเรื่องมากเพราะการเสพสุรา

ประเทศสยามเรายังคงปรากฎว่ามีนักโทษเปนจำนวนมาก รัฐบาลลองใคร่ครวญหาเหตุผลดูทีหรือว่า มีนักโทษมากเพราะเหตุไร ลองเลิกสุราดูสักที จะได้ผลดีเหมือนกับอเมริกาบ้างหรือไม่

ข้าราชการและราษฎร สังเกตุดูชอบการเสพสุรากันมาก ผู้ที่เสียหายเนื่องจากการเสพสุราก็มีมากมายเหลือที่จะคณะนา โดยการเสพสุราเปนต้นเหตุและสุราให้โทษเพียงไร เมื่อคราวแสดงภาพอนามัยที่วัดประทุมคงคา เราเชื่อว่ามหาชนคงได้พิจารณาแล้ว เราไม่จำเปนจักต้องบรรยายว่างามอย่างไร

คนเรายังมีความหวังอยู่ว่าตนจะได้ดิบได้ดี หรือยังพยายามหาคุณความดี ยังแสวงหาชื่อเสียงอยู่ พึงหวังเถิดว่า ผู้นั้นจักเปนผู้ที่ว่านอนสอนง่ายไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่ประสงค์จะประพฤติฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐบาล ถ้าเขาไม่มีหวังดั่งนี้แล้ว ก็พึงเข้าใจเถอะว่า เขาจะทำอะไรก็ทำได้ ถ้าถึงกับต้องติดคุกติดเล้าละก็พึงนึกเสียเถิดว่าน้อยนักน้อยหนาที่จะกลับมาเปนคนดี ขอให้สังเกตุดู ผู้ที่เคยต้องโทษถึงกับจำคุกแล้วมักจะต้องโทษบ่อยๆ

เรื่องนี้ ก็เปนเพราะผู้นั้นเขาหมดความหวังดีนั่นเอง ฉนั้นศาลจึงได้มีการเพิ่มโทษ ถานไม่เข็ดหลาบด้วยอีกโสดหนึ่ง จนถึงกับมีการเนรเทศ แต่ก็ไม่สู้ได้ผล เพราะปรากฎว่าจำพวกนักโทษที่ถูกเนรเทศ ไปจังหวัดต่างๆ กลับไปเพาะความชั่วร้าย หรือไปเปนครูเปนอาจารย์ให้แก่ชาวจังหวัดอีก

ศาลมีน่าที่พิพากษาลงโทษแก่ผู้กระทำผิด แต่โดยมากเมื่อศาลจะพิพากษาคดีใด ศาลมักใช้ดุลพินิจ โดยไม่ประสงค์จะเอาผู้กระทำผิด ใส่คุกใส่ตรางเสมอไป ต้องคิดถึงความประพฤติและถานะของผู้กระทำผิด ฉนั้นจึงมีเรื่องปรากฎว่า คดีชนิดเดียวกันแต่ศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดไม่เสมอกัน โดยศาลเห็นว่า การเอาคนใส่คุกก็เท่ากับทำให้คนหน้าด้าน หรือทำให้คนดีเป็นคนอัปรีไปอีก ในเมื่อมันต้องจำคุก มันก็ต้องหมดจากความหวังดี

คนเรามีถานะความประพฤติ และความรู้ความคิดไม่เสมอกัน ฉนั้นผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือเคยมีความประพฤติดีไม่เคยต้องโทษ เมื่อต้องคดีแม้มีโทษ ศาลก็ลดหย่อนผ่อนโทษเปนธรรมดา มีการรอลงอาญาเปนต้น


อ่านตอนต่อไป:

ซีรี่ส์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Dissident Dreams ได้รับการสนับสนุนโดย Democracy Discourse Series มหาวิทยาลัยเดอลาซาล ประเทศฟิลิปปินส์