ที่มาและหลักการ

กองทุนราษฎรประสงค์ โดยมูลนิธิสิทธิอิสรา
กองทุนเพื่อเงินวางประกันในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง

เป้าหมายของกองทุน

เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมืองมิให้ถูกลิดรอนจากการใช้คดีความทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือจองจำเยี่ยงผู้ถูกลงทัณฑ์ อันจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลซึ่งตามกฎหมายต้องถือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิพากษาถึงที่สุด

ขอบเขตการให้ความช่วยเหลือ

กองทุนให้ความช่วยเหลือในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองที่มีเป้าหมายเพื่อการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และปฏิรูปการเมืองการปกครองตลอดจนสังคมวัฒนธรรมในทางที่ส่งเสริมความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ขั้นตอนการเบิกจ่ายเงิน

ทนายความผู้รับผิดชอบในคดีจะเป็นผู้คัดกรองและแจ้งประสานงานมายังกองทุน หากกองทุนพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในขอบเขตการให้ความช่วยเหลือของกองทุน กองทุนจะมอบหมายตัวแทนของกองทุนเป็นผู้ไปดำเนินการยื่นและวางหลักประกัน แล้วแสดงหลักฐานการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวแก่ผู้บริจาคทางหน้าเพจของกองทุน 

ที่มาของกองทุน

กองทุนราษฎรประสงค์ เกิดขึ้นภายใต้ชื่อนี้เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 พร้อมกับการเปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อ “กองทุนราษฎรประสงค์” เพื่อเป็นพื้นที่รายงานและแสดงหลักฐานการใช้จ่าย โดยมี ชลิตา บัณฑุวงศ์ และไอดา อรุณวงศ์ เป็นผู้ถือบัญชีและเป็นผู้ดูแลการเบิกจ่ายของกองทุน  เงินในกองทุนมาจากการเปิดรับบริจาคสาธารณะผ่านบัญชีธนาคาร โดยมีเงินทุนตั้งต้นส่วนหนึ่งมาจากการนำเงินบริจาคที่เหลืออยู่ในบัญชีกองทุนประกันตัวที่เปิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อใช้ประกันตัวประชาชนในคดีที่เรียกกันว่าคดีคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งมี ชลิตา บัณฑุวงศ์ และไอดา อรุณวงศ์ เป็นผู้ดูแลบัญชี มารวมเข้ากับเงินบริจาคที่เหลืออยู่ในกองทุนประกันตัวคดีทางการเมืองทั่วไป ที่เคยดูแลโดย ไอดา อรุณวงศ์, อานนท์
นำภา และวีรนันท์ ฮวดศรี มาตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 เมื่อรวมกองทุนเข้าด้วยกันแล้ว ก็ได้กำหนดขอบเขตความช่วยเหลือให้ครอบคลุมคดีความที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง ทั้งจากการเคลื่อนไหวในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 มาจนถึงคดีการเมืองจำนวนมากที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา

ที่มาของชื่อ “ราษฎรประสงค์”

เพื่อเป็นการรำลึกกลับไปถึงจุดริเริ่มตั้งต้นของแนวคิดจัดตั้งองค์กรทนายความอาสาและการตั้งกองทุนช่วยเหลือเรื่องการประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมืองเมื่อปี 2553 ภายหลังการสลายการชุมนุมของประชาชนในนามคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์ โดยในครั้งนั้นได้ใช้ชื่อว่า “สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์” เพื่อสะท้อนถึงวาระอันเป็นเหตุตั้งต้นคือการสังหารหมู่ที่ราชประสงค์ และเพื่อบอกถึงพลังของการแสดงเจตจำนงประสงค์ของประชาชนผ่านการระดมเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี

ความพยายามอย่างอาสาสมัครเฉพาะกิจในครั้งนั้นค่อยคลี่คลายมาจนในปี 2557 ที่มีการตั้งองค์กรทนายความสิทธิมนุษยชนขึ้นมาเป็นงานอาชีพ ขณะที่งานในส่วนของการประกันตัวยังคงไม่มีองค์กรใดรับไปดูแล และทำให้ยังต้องอยู่ในรูปของกองทุนอาสาเฉพาะกิจต่อไปโดยไม่มีชื่อและไม่มีองค์กร จนกระทั่งเกิดการต่อสู้ระลอกใหม่ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ที่ทำให้ผู้ดูแลบัญชีตัดสินใจนำชื่อนี้กลับมาใช้อีกครั้ง โดยเรียกว่า “กองทุนราษฎรประสงค์” เนื่องจากเห็นถึงความพ้องกันของสปิริตอย่าง “ราษฎรประสงค์” เมื่อปี 2553 กับสปิริตอย่าง “(คณะ)ราษฎร—ประสงค์” ในการต่อสู้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

หลักการดูแลกองทุนภายใต้มูลนิธิสิทธิอิสรา

ในปี 2564 ผู้ดูแลกองทุนราษฎรประสงค์ ได้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิ ภายใต้ชื่อมูลนิธิสิทธิอิสรา (กรุณาดูหน้า “เกี่ยวกับเรา” สำหรับรายละเอียดมูลนิธิ) เพื่อให้เป็นองค์กรนิติบุคคลตามกฎหมายที่จะมาดูแลเงินบริจาคต่อไป แทนการใช้บัญชีชื่อบุคคลธรรมดาบัญชีเดิม ซึ่งไม่มีฐานะทางกฎหมายเป็นหลักประกันเพียงพอสำหรับการปกป้องดูแลเงินบริจาคจำนวนมหาศาลของสาธารณชนให้ยั่งยืน ปลอดภัยและยังคงเป็นของสาธารณชนต่อไปได้ในระยะยาว รวมทั้งงานอาสาในลักษณะเดิมที่ทำมา เป็นงานที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงต่างๆด้วยตัวเอง ทำให้ไม่เหมาะสมที่จะส่งมอบพันธกิจให้คนรุ่นต่อไป  การจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิจะทำให้มีความพร้อมในทางกฎหมายมากขึ้นที่จะปกป้องเงินบริจาค และจัดหาค่าใช้จ่ายมาเพื่อรองรับการทำงานของคนรุ่นต่อไปในฐานะเจ้าหน้าที่มูลนิธิ

อนึ่ง แม้เปลี่ยนฐานะเป็นมูลนิธิแล้ว บัญชีสำหรับเงินของกองทุนราษฎรประสงค์จะยังคงไม่มีการเบิกจ่ายไปใช้ในเรื่องอื่นใดทั้งสิ้นนอกจากที่เกี่ยวข้องกับการวางประกันภายใต้หลักการเดิมและค่าใช้จ่ายในคดีของผู้ต้องหา/จำเลย และได้เปิดอีกบัญชีแยกต่างหากสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของมูลนิธิ