มรดก 2465: เปิดกรุหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์อายุ 100 ปี

นพพร สุวรรณพานิช สะสม

ดูรายการหนังสือพิมพ์ที่สแกนแล้วได้ทางด้านล่างของหน้านี้

[คลิกที่นี่เพื่ออ่านเนื้อหาคัดสรร “ตอนที่ 1 ภาษีกู!”]
[คลิกที่นี่เพื่ออ่านเนื้อหาคัดสรร “ตอนที่ 2 ไร้ที่พึ่งในระบบ”]
[คลิกที่นี่เพื่ออ่านเนื้อหาคัดสรร “ตอนที่ 3 ยุติธรรมสำหรับหญิง”]

แด่ความทรงจำในปี พ.ศ. 2553
คำนำเสนอ โดย เฌอทะเล สุวรรณพานิช

ปี พ.ศ. 2553 เป็นปีที่ชีวิตของเด็กมัธยมศึกษาชั้นปีที่สามอย่างเรามีความทรงจำอยู่เพียงสองเรื่อง และเป็นความทรงจำที่เด็กอายุสิบสี่ย่างสิบห้าคนนั้นหารู้ไม่ว่า ในชีวิตคนเรามีเรื่องราวเพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสลักลงจิตวิญญาณมนุษย์ไปชั่วชีวิต 

ความทรงจำแรกคือการไปเรียนพิเศษแถวสยามในช่วงปิดเทอมเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 สมัยที่มิลค์พลัสยังไม่ปิดตัวลง และเราก็ไปนั่งกินเกือบทุกกลางวันช่วงที่เรียนพิเศษ เพราะมันทั้งอร่อยและประหยัด สถานการณ์ทางการเงินของที่บ้านเวลานั้นทำให้เรารู้สึกขอบคุณครอบครัว ที่ยังกระเบียดกระเสียรเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดมาให้เราได้เรียนพิเศษเพื่อเตรียมสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายชื่อดังใจกลางสยาม แต่ความทรงจำเรื่องเรียนพิเศษ ณ เวลานั้นก็เหลือเพียงเท่านี้ ขนมปังปิ้งมิลค์พลัสกับนมเมลอนแสนอร่อย และคลาสภาษาอังกฤษที่รู้สึกว่าไม่เป็นประโยชน์เสียเท่าไหร่ ความรู้สึกผิดเล็กๆ ของเด็กผู้หญิงคนนั้นที่คิดว่าไม่น่าให้ที่บ้านเปลืองเงินให้มาเรียนเลย

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีเพียงวันเดียวในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ที่ฝังลึกอยู่ในใจยิ่งกว่าวันไหนๆในชีวิต วันหนึ่งกลางเดือนเมษายน ขณะที่เรากำลังนั่งรถไฟฟ้ากลับบ้านหลังเรียนพิเศษ และนั่งผิดสาย กลับกลายเป็นวันที่จำได้แม่นยำ เศษเสี้ยวของเดือนเมษายน 2553 ในหน้าประวัติศาสตร์การทารุณกรรมของการเมืองไทย ฝังอยู่ในวันนั้น ทั้งที่เป็นวันวันหนึ่ง เพียงแค่ขึ้นรถไฟฟ้าผิดสาย เพียงแค่เป็นเด็ก เพียงแค่ใจลอย เพียงแค่ไม่ค่อยได้นั่งรถไฟฟ้าและไม่แม่นยำระหว่างรถไฟฟ้าไปหมอชิตกับรถไฟฟ้าไปศาลาแดง 

จู่ๆ ก็ไปโผล่ที่ศาลาแดง เดินออกมาจากรถไฟฟ้า ตระหนักว่ามาผิดทาง แทนที่จะนั่งไปลงหมอชิตเพื่อต่อรถไฟใต้ดินไปลงบางซื่อให้แม่มารับ เรากลับนั่งไปลงศาลาแดง แต่ ณ เวลานั้นเด็กหญิงอายุสิบสี่ตระหนกมากกว่าตระหนัก วินาทีที่ก้าวเท้าออกมาจากสถานีรถไฟฟ้าบนดินเพื่อเดินต่อทางเชื่อมไปยังรถไฟใต้ดิน เราคือสิ่งมีชีวิตเดียวที่เดินลงจากรถไฟฟ้า เราคือสิ่งมีชีวิตเดียวที่เดินอยู่ ณ ทางเชื่อมสกายวอล์ค  ไม่มีมนุษย์ปุถุชนคนอื่นเดินอยู่แม้แต่คนเดียว ถนนเบื้องล่าง ไม่มีสัญญาณของสิ่งมีชีวิตใด ไม่มีรถยนต์ขับผ่านแม้แต่คันเดียว มีเพียงเรา และนายทหารสวมเสื้อเกราะกับปืนกระบอกใหญ่ 

นั่นคือครั้งแรกในชีวิตที่เราเห็นปืน 

และนั่นคือครั้งแรกในชีวิตที่เราสัมผัสได้ว่าความเลือดเย็นมีกลิ่นของมัน ความกลัวสามารถลอยละล่องอยู่ในอากาศ ความโหดร้ายมีอุณหภูมิอันจำเพาะ ช่วงเวลาสั้นๆในวันนั้น เพียงไม่กี่ก้าวเดินจากสถานีรถไฟบนดินไปใต้ดิน สลักอยู่ในความทรงจำจนถึงทุกวันนี้ ความอมนุษย์ของเมืองที่ไม่ได้เอ่ยออกมาเป็นภาษา ความเงียบงัน ความน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงของนายทหาร อาวุธ กลิ่นคาวเลือดที่เหมือนจะลอยมาล่วงหน้าในอากาศ เป็นเวลาไม่กี่นาทีในชีวิตวัยมัธยมต้นที่ฝังลึกอยู่ในความทรงจำ และเด็กอายุสิบสี่คนนั้นไม่สามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นตัวอักษร ผู้หญิงวัยยี่สิบแปดปีในวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ ไม่สามารถอธิบายความทรงจำในอากาศออกมาเป็นคำพูดได้ดีนัก จนถึงตอนนี้ก็กล่าวได้เพียงว่า มันลอยคละคลุ้งอยู่ในอากาศ 

ความทรงจำวัยสิบสี่ตัดฉับมาที่ข่าวสลายการชุมนุม ผู้คนรอบตัวที่โห่ร้องสะใจที่ “อ้ายอีบ้านนอกพวกนั้น ที่เผาเซนทรัลเวิร์ล” ถูกทหาร “จัดการ” ส่วนเด็กอายุสิบสี่เพียงแต่นั่งสงสัยหน้าทีวีว่า ทำได้ยังไง? จู่ๆก็เอาปืนไปกราดยิงคนแบบนั้น? 

.

อีกความทรงจำที่ฝังเป็นหลุมดำอยู่ในชีวิตช่วงมัธยมศึกษาชั้นปีที่สาม ก็คือความทรงจำเกี่ยวกับป๊า ในความทรงจำของเด็กผู้หญิงวัยสิบสี่ ป๊าก็คือป๊า ป่วยและเข้าออกโรงพยาบาลเพราะเส้นโลหิตในสมองแตกมาสามรอบ สามรอบ! ใช่! โหดเป็นบ้า สามรอบที่ทำให้ป๊าซึ่งเคยเป็นล่ามฉับพลันไม่สามารถไม่สามารถประกอบอาชีพของตัวเองได้อีก แต่ก็ยังแข็งแรงพอที่จะใช้ชีวิตด้วยตัวเอง และเขียนหนังสือภาษาศาสตร์และการเมืองออกมาอีกไม่รู้กี่สิบเล่ม

เราเลยโตมาแบบเคยชินกับการที่ป๊าป่วย และชินกับที่คนรอบตัวบอกเราว่า ‘ป๊าน่ะแข็งแรงมาก’ ‘อายุยืนแน่นอน เส้นโลหิตในสมองแตกมาสามรอบแล้วยังแข็งแรงขนาดนี้’ แต่เราอ่านระหว่างบรรทัดยังไม่ออก ไม่รู้ว่าบางทีผู้ใหญ่เค้าก็พูดปลอบใจตัวเองมากกว่าพูดความจริง ปีนั้นป๊าไอบ่อยมาก ไออยู่ทั้งปี มีอยู่วันหนึ่งจู่ๆ เข้าโรงพยาบาลด้วยเหตุอันใดเราก็ไม่สามารถจำได้ ป๊าค้างโรงพยาบาลคืนหนึ่ง หมอบอกว่าไม่มีอะไร ปกติดี จากนั้นก็กลับมาบ้าน วันที่ป๊ากลับมาบ้านเป็นวันหนึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เด็กหญิงเป็นทั้งวัยรุ่นต่อต้านผู้ใหญ่ และกำลังหมกมุ่นกับการอ่านหนังสือสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย

วันนั้นเราไม่ได้เข้าไปกอดป๊า เพียงแค่พูดกับป๊าว่ากลับมาบ้านแล้วเหรอ ดีจัง

เช้าวันต่อมา แม่บอกว่าป๊าเสียแล้ว

.

กอดสุดท้ายที่สูญเสียไป ยังเป็นสิ่งที่เสียใจมาจนถึงทุกวันนี้ ยังเขียนไปร้องไห้ไป และไม่คิดว่าความเจ็บปวดนี้จะมีวันหาย เสียใจที่วันนั้นไม่ได้เข้าไปกอดสักที เสียใจที่ไม่สามารถสนทนากับป๊าได้อีกแล้ว ไม่สามารถถาม ไม่สามารถเถียง เป็นความเสียใจที่ยังอยู่ตรงนี้ มีเรื่องราวเยอะแยะที่เราอยากถาม เราเพิ่งรู้เมื่อปีที่แล้วด้วยซ้ำว่าป๊าเคยไปเป็นพยานให้จำเลยคดี 112 เมื่อปี พ.ศ. 2548 มีอะไรเยอะแยะเกี่ยวกับป๊าที่เราไม่เคยรู้ และไม่มีวันจะรู้ได้อีกแล้ว เด็กอายุสิบห้าคนนั้นไม่ได้สงสัยอะไรมากมาย แต่ผู้หญิงอายุยี่สิบแปดคนนี้มีสิ่งที่อยากคุยกับป๊าเยอะแยะไปหมด สิ่งเหล่านั้นไม่หวนคืนกลับมาอีกแล้ว ชีวิตก็เป็นแบบนี้

สิบกว่าปีต่อมาเรามานั่งรื้อกองสมบัติพัสถานของพ่อ หนึ่งในนั้นคือหนังสือโบราณหลักร้อย-พันเล่ม รวมถึงหนังสือพิมพ์ที่เมื่อได้หยิบขึ้นมาเราเองก็อ้าปากค้าง ใจเต้น เพราะมันคือหนังสือพิมพ์อายุร้อยปีที่เหลืองกรอบราวใบไม้ร่วง ตีพิมพ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หก และหนังสือพิมพ์เหล่านี้แม้แต่หอสมุดแห่งชาติก็ไม่มีเก็บไว้ และกลายเป็นว่าเมื่อเปิดอ่าน เหตุการณ์สังคมหลายอย่างกลับร่วมสมัยจนเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิสตรี แรงงาน การไม่กระจายงบประมาณไปต่างจังหวัด งบประมาณแผ่นดินที่กระจุกอยู่กับทหาร งบการศึกษาที่ขาดแคลน ภาวะโรคระบาด ฯลฯ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเหล่านี้คือเหตุการณ์สังคมเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว

ตัวอักษรบันทึกความทรงจำเอาไว้ และหนังสือพิมพ์เหล่านี้ก็มีคุณค่าอย่างยิ่งในสังคมที่ลืมง่าย หรือไม่ก็เลือกจะจำเป็นเรื่องๆ จำในสิ่งที่สะดวกสบาย จำในสิ่งที่ทำให้ตัวเองคิดว่าอยู่ในฝั่งธรรมะเสมอ ในสังคมแบบที่เป็นกันอยู่นี้ หนังสือพิมพ์ที่บันทึกความทรงจำร้อยปีที่แล้วเอาไว้ อาจมีประโยชน์ของมัน การโชคดีพอที่ได้เติบโตมาในบ้านที่มีหนังสือเป็นพันๆ เล่ม การที่ป๊าและแม่รักหนังสือมาก และสอนให้เรารักการอ่านตั้งแต่จำความได้ ทำให้เราเห็นคุณค่าของความบังเอิญของหนังสือ ตอนขึ้นชั้นมัธยมปลาย เราเดินเข้าบีทูเอส บังเอิญหยิบวารสารอ่านที่คุณไอดา อรุณวงศ์ เป็นบรรณาธิการ (ปัจจุบันก็คือผู้ก่อตั้งมูลนิธิสิทธิอิสรา ซึ่งดูแลเงินประกันตัวนักโทษคดีการเมืองด้วย) ขึ้นมา หนังสือเพียงเล่มเดียวทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ฆาตกรรมกลางกรุงที่เกิดกับคนเสื้อแดง เข้าใจความไม่เป็นธรรมของสังคมไทย และปลูกฝังความเข้าใจในมนุษย์อันละเอียดอ่อนมาให้เราจนถึงทุกวันนี้

หนังสือคือความเป็นธรรม การเก็บความทรงจำของสังคมเอาไว้คือความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์สังคมไทย ณ ปัจจุบัน บางทีความเป็นธรรมที่ไขว่คว้าได้ คือการไม่บิดเบือนความทรงจำ เก็บมันเอาไว้ บางอย่างก็พูดออกมาได้บ้างไม่ได้บ้าง เขียนได้บ้างไม่ได้บ้าง การช่วยกันเก็บความทรงจำที่เก็บได้ พอจะพูดได้ พอจะเอ่ยถึงได้ คงเป็นเศษเสี้ยวเล็กๆ ของความเป็นธรรม ที่คนธรรมดาให้กันได้ และไม่ไกลเกินเอื้อมจนเกินไป

.

ก็ได้แต่หวังว่าหนังสือพิมพ์อายุร้อยปีที่ นพพร สุวรรณพานิช สะสมไว้ และเรานำมาสแกนเผยแพร่ อาจสร้างความบังเอิญที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตใครได้บ้าง และพอจะเก็บความทรงจำเอาไว้ได้

.

สิบสามปีผ่านไปไวเหมือนโกหก

อุทิศแด่ป๊า… นพพร สุวรรณพานิช 

เฌอทะเล สุวรรณพานิช

12 สิงหาคม พ.ศ. 2566


รายการหนังสือพิมพ์ที่สแกนแล้ว

กรรมกร 8 เล่ม

บางกอกการเมือง 2 เล่ม

ขาวกับดำ 2 เล่ม


ซีรี่ส์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Dissident Dreams ได้รับการสนับสนุนโดย Democracy Discourse Series มหาวิทยาลัยเดอลาซาล ประเทศฟิลิปปินส์