มรดก 2465: ตอนที่ 1 ภาษีกู!

นพพร สุวรรณพานิช สะสม

[คลิกที่นี่เพื่อดูรายการหนังสือพิมพ์ทั้งหมดที่สแกนแล้ว พร้อมคำนำเสนอ “แด่ความทรงจำในปี พ.ศ. 2553” โดย เฌอทะเล สุวรรณพานิช]

ในเนื้อหาคัดสรรตอนที่ 1 นี้ เราขอนำเสนอสามบทความและจดหมายคัดสรรจากหนังสือพิมพ์อายุ 100 ปี เรื่องการทุจริตของขุนนาง และเรื่องสองมาตรฐานการเร่งรัดภาษีทั้งระหว่างในและนอกพระนครและระหว่างสามัญชนกับเจ้านาย


“ขุนนางรับสินบล มิใช่ว่าพระเจ้าสุลต่านท่านจะมิทรงทราบเมื่อไร ทรงทราบเข้าพระไทยดี แต่จะทรงกำจัดเขาได้อย่างไร เพราะขุนนางทุกคนรับสินบลทั้งเพ
ถ้าหากจะไห้คนเก่าออก เอาคนใหม่เข้า มันก็รับสินบลอีก ถ้าใครเปนหัวอกสุลต่านบ้าง ก็ต้องตอบว่าเอาเก่าไว้ดีกว่า ถ้าเมื่อมันได้จนพอแล้วมันก็คงอิ่มเข้าสักวันหนึ่ง”

จาก บางกอกการเมือง ปีที่ ๑ เล่ม ๖ วันจันทร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕ (pdf)
คอลัมน์ “เบ็ตเตล็ด” หน้า ๙๔-๙๖

คุนญฺเจตรมานานํ เมื่อหมู่โคข้ามฟากอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงไปคด หมู่โคนอกนั้นย่อมไปคดตามกัน ถ้าโคผู้นำฝูงไปตรง หมู่โคนอกนั้นย่อมไปตรงตามกันข้อนี้ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็อย่างเดียวกัน ถ้าท่านที่ได้รับสมมุติเป็นใหญ่ประพฤติไม่เปนธรรม น่าที่ประชาชนนอกนั้นจะประพฤติเปนธรรมอย่างไร? จริงไหม?

กระทรวงศึกษาธิการ เปนผู้ประสิทธิ์ประสาทความเจริญรุ่งเรืองแก่ชาติ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติให้เงิน ซึ่งอยู่ในงบประมาณประจำ พศ. ๒๔๖๕ เงิน ๒,๔๔๓,๖๓๔ บาท เจริญแท้!

เงินที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประมุขของประเทศ ปีละ ๑๐,๖๘๖,๙๓๖ บาท ประมุขแน่!

กรมตำรวจภูธรและตำรวจพระนครบาลผู้ทำความสงบให้แก่ประเทศ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติให้เงินปีละ ๕,๑๐๐,๑๐๐ บาท สงบจริง!

ข้าราชการกรมไหน ประจำอยู่ ณ ที่ใด ก็ต้องนั่งทำงานอยู่ ณ ที่นั้น แต่ทำไมหลวงธนสิทธิ์คลังจังหวัดสมุทรปราการมานั่งทำงานในกรมพระคลังมหาสมบัติ เจ้าคุณสมบัติรู้ไหม? ทำอะไรกันอย่างนี้ เงินเดือนเปนของราษฎรนา! จะเอื้อก็เอื้อกันดีๆหน่อยซี!

คนคิ้วงามๆ ถ้าได้ทำราชการงานเมืองก็ชื่อว่า เปนคนมีบุญวาสนา ดูแต่เจ้าคุณสมบัติเปนไร คิ้วท่านงาม จึงเปนที่โปรดปราณของเสด็จรองเสนาบดีกระทรวงคลัง ภูมิใจ!

ของกำนัน ถ้าเข้าอยู่ในที่ใดอาจทำความยุติธรรมให้แก่ผู้ให้ หรือเปนการอุดหนุนยุติธรรมให้แก่โจรก็ได้ แต่ท่านว่า ถ้าที่โรงภาษีของ……แล้วต้องให้ ถ้าผู้ใดไม่ให้ก็เท่ากับผู้นั้นไม่เห็นแก่น่าที่การงานของรัฐบาล เพราะจะทำให้การงานไม่ก้าวหน้าช้าลงมาก ถ้าให้เสียแล้ว การงานอาจจะเร็วขึ้นได้เท่ากับรถยนตร์ ๖ สูบ ๘๐๐๐ แรงม้าทีเดียว

เราขอรับรองว่า เจ้าน่าที่ตรวจสินค้าที่โรงภาษีร้อยชัก ๓ ไม่มีสักคนเดียวที่เคยรับสินบล ถ้าอยากได้ท่านก็ขอเอาทีเดียวละ ดีใหม?

เราขอเขาตรงๆเขาก็ให้เราโดยไม่ขัดขืนดังนี้ นักปราชญ์กฎหมายที่ไหนจะแปลให้เปนสินบล ขอถามหน่อยเถอะ

ใครรักๆบ้าง ชังๆตอบ เจ้าน่าที่โรงภาษีชอบท่องนัก

คนที่จะมีการงานเกี่ยวข้องกับการภาษี ถ้าไม่พกความโอบอ้อมอารีไปให้มากแล้ว ก็อย่าไปเลย เพราะที่นั่นเปนสถานที่ของคนโอบอ้อมอารีควรไป

เจ้าน่าที่โรงภาษีแพนกขาเข้าขาออกเขาว่า ไม่ว่าชาติใดๆ ภาษาใดเหมือนกันทั้งหมด ถ้ายิ่งฝรั่งด้วยแล้ว ตาดีพิลึกเดินเอามือไพล่หลังละเปนที่๑เชียว!

เรื่องด่านภาษีกันแล้ว ในกรมพระองค์หนึ่ง ท่านว่าใครไม่วิเศษไปกว่าชาติเตอร์กฺ ในว่าเงินเดือนเขาไม่แคร์เลย แต่ที่๒ไม่ใช่ไทยน่ะจะบอกให้

พูดถึงการรับของกำนัน (ที่เรียกว่าสินบล) กันแล้ว ผู้ที่เคยเดินทางผ่านกรุงคอนสแตนติโนเปิลเปนออกปากทุกท่าน ว่าขุนนางเตอร์กรับสินบลทุกคนนับตั้งแต่เสนาบดีลงมาจนถึงเสมียน แลรับกันอย่างออกหน้าออกตา ไม่ต้องเกรงใจสุลต่าน ถ้าใครไม่เชื่อก็ขอให้ไปทูลถามพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระดำรงค์ราชานุภาพ ด้วยพระองค์ท่านเคยเสด็จเมืองนั้น

ขุนนางรับสินบล มิใช่ว่าพระเจ้าสุลต่านท่านจะมิทรงทราบเมื่อไร ทรงทราบเข้าพระไทยดี แต่จะทรงกำจัดเขาได้อย่างไร เพราะขุนนางทุกคนรับสินบลทั้งเพ

ถ้าหากจะไห้คนเก่าออก เอาคนใหม่เข้า มันก็รับสินบลอีก ถ้าใครเปนหัวอกสุลต่านบ้าง ก็ต้องตอบว่าเอาเก่าไว้ดีกว่า ถ้าเมื่อมันได้จนพอแล้วมันก็คงอิ่มเข้าสักวันหนึ่ง

เห็นจะเปนด้วยที่มีพวกขุนนางรับสินบลกันมากนักหรืออย่างไร พระเจ้าสุลต่านของเตอร์ก จึงต้องถูกปรรพพานิยกรรมกันบ่อย

ท่านขุนนางเมืองเรา เปนผู้ที่รักชาติสาสนา พระมหากระษัตริย์ ฉนั้นคนรับสินจึงไม่มี ด้วยเปนเรื่องน่าหวาดเสียวนัก ถ้าหากจะมีก็จำพวกขุนนางขายชาติ!


“…มีการยึดทรัพย์ทวีขึ้นตามบ้านเมืองมณฑลชั้นเอก ส่วนในพระนครฯจะได้เห็นเจ้าพนักงานยึดทรัพย์ใครตรวจใบเสร็จรัชชูประการ คนไหนบ้างหรือไม่ก็เปล่าเลย ผู้ไม่เสียเดินลอยนวนเล่นตามสบาย แต่ชาวบ้านป่าถูกยึดทรัพย์นับไม่ถ้วน”

 “ขอกระซิบท่านบรรณาธิการว่าทุกวันนี้พระราชกำหนดกฎหมายเดินก้าวไปไกลกว่าถานะพลเมืองอยู่แล้ว ควรช่วยกันรั้งไว้อย่าให้เหลิงจนลอยดังพระราชบัญญัติรัชชูปการเช่นนี้อีกเลย”

จาก กรรมกร ปีที่ ๒ เล่ม ๔๐ วันเสาร์ที่ ๑ ธันวาคม พ,ศ, ๒๔๖๖ (pdf)
คอลัมน์ “ตอบแทนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์” น่า ๖๒๖-๖๒๘

หนังสือพิมพ์ของท่านเล่ม ๓๗ วันเสาร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๖ ตอบคำร้องทุกข์ของราษฎรชาวจังหวัดกาฬสินธุ รวมได้ใจความว่า เงินช่วยชาติปี๑เพียง๖บาทคงไม่เดือดร้อนเหลือเกินนักนั้น ความเห็นในข้อนี้ท่านคงนึกแต่เผินๆ เห็นสำหรับพวกชาวพระนครฯ ถ้าจะมองดูกันให้ซึ้งถึงชาวบ้านป่าเมืองดอน จำพวกที่วันหนึ่งๆหาอะไรไม่ได้เลย แต่เสียเงินเท่าชาวพระนครฯ ถูกเจ้าพนักงานกดขี่เร่งเรียกเงินถูกยึดทรัพย์สมบัติขายทอดตลาดใช้เงินรัชชูปการ มิหนำซ้ำถูกเสียค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์เข้ากระเป๋าเจ้าพนักงาน ทรัพย์ที่ถูกยึดมีโคกระบือเรือกสวนไร่นา บางคนถึงกับไม่มีที่อยู่ ที่กล่าวใช่แต่จังหวัดกาฬสินธุ ข้าพเจ้าเคยไปเที่ยวสดับตรับฟังหลายจังหวัดหลายมณฑลคงได้ใจความเช่นเดียวกัน จึงจะเว้นตอบแทนชาวจังหวัดกาฬสินธุเสียไม่ได้ จริงอยู่ความสอดส่องของท่านเจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวแนะนำให้ผ่อนผันการเร่งรัดภาษีอากร ด้วยความหวังอันดีทางฝ่ายปกครอง ส่วนความเร่งรัดทางฝ่ายสรรพกร สั่งให้รีดนาทาเน้นกันลงมาเปนลำดับอีกทางหนึ่ง เพราะอะไร ก็เพราะตั้งแต่แก้พระราชบัญญัติให้ยกเลิกใช้แรงแทนเงินรัชชูปการมาเงินตกมากมาย “ข้าพเจ้าพูดนี้หน่อยบุตรบจะเถียง” ว่า “เงินตกเพราะเกณฑ์ทหาร” จึงออกตัวเสียก่อนว่าไม่ใช่เพราะเช่นนั้น จะเปนบ้างก็ราว ๒๕ เปอร์เซ็นต์เปนอย่างมาก เพราะเหตุที่เงินตกนี้จึงมีการยึดทรัพย์ทวีขึ้นตามบ้านเมืองมณฑลชั้นเอก ส่วนในพระนครฯ จะได้เห็นเจ้าพนักงานยึดทรัพย์ใครตรวจใบเสร็จรัชชูประการ คนไหนบ้างหรือไม่ก็เปล่าเลย ผู้ไม่เสียเดินลอยนวนเล่นตามสบาย แต่ชาวบ้านป่าถูกยึดทรัพย์นับไม่ถ้วน เมื่อข้าในใต้ฝ่ายุคลบาทของพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวได้รับความไม่เสมอหน้ากันเช่นนี้ ท่านบรรณาธิการจะไม่ลงเห็นหรือหาทางช่วยแก้ไขอย่างไรบ้างทีเดียวหรือๆจะรอคอยให้เลิกพระราชบัญญัติรัชชูประการเปลี่ยนเก็บภาษีที่ดินแทนอย่างไร ในการเก็บภาษีที่ดิน (อินคำแท๊ก) นี้ข้าพเจ้าเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาอันสมควรๆแต่จะแก้พระราชบัญญัติรัชชูปการ เพื่อใช้ให้เหมาะแก่ภูมิประเทศไปพลางก่อนดีกว่า ขอกระซิบท่านบรรณาธิการว่าทุกวันนี้พระราชกำหนดกฎหมายเดินก้าวไปไกลกว่าถานะพลเมืองอยู่แล้ว ควรช่วยกันรั้งไว้อย่าให้เหลิงจนลอยดังพระราชบัญญัติรัชชูปการเช่นนี้อีกเลย เราทุกคนควรช่วยกันหาทางช่วยเหลือเพื่อแก้ไขอย่าให้พระราชทรัพย์ตกต่ำเปนการดี ข้าพเจ้าจะเขียนเซ้าซี้ซอกแซกมากไปก็จะเปลืองน่ากระดาด ขอยุติกันเสียที วันหลังมีเวลาจะเขียนต่อไป

“ปากกาหมึกซึม”

เรื่องนี้ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ หรือพระยาอินทมนตรีอธิบดีกรมสรรพกรจะว่าอย่างไร จะเห็นทุกข์ของราษฎรบ้างไหม? กระทรวงมหาดไทยก็ทำการผ่อนผันสั้นยาวอยู่แล้ว กระทรวงพระคลังจะเข้มงวดไปถึงไหน ควรจะผ่อนผันสั้นยาวในกาลเทศะอันควรบ้างไม่ได้หรือ ถ้าราษฎรไม่มีจริงๆจะทำอย่างไร เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สมบัติของมันแล้วมันจะเอาอะไรทำกิน เมื่อราษฎรไม่มีจะกินจะเดือดร้อนรัฐบาลใหม? ส่วนเจ้าน่าที่ของรัฐบาลซึ่งเปนตัวบุคคลเราไม่พูดถึง เพราะท่านกินเงินเดือนของรัฐบาลได้ก็สบายไป แต่ราษฎรกินเงินของใคร อาบเหงื่อต่างน้ำใช่ใหม? ควรจะช่วยกันสอดส่องดูบ้างเปนไร? รัฐบาลยังไม่ได้จัดการบำรุงราษฎรให้ได้รับความศุขผิดตาขึ้นไปอย่างไรเลย มีแต่จะคิดเก็บภาษีอากรจนยุบยิบ เมื่อเช่นนี้ ราษฎรจะไม่ยับจะไปยับเอาเมื่อไร อกเขาอกเรารัฐบาลควรเห็นใจบ้าง เสรฐียังรู้ขัดไฟราษฎรเปนอะไร? ที่ไม่มีจริงๆรัฐบาลควรเห็นใจ

บ.ก.ก.


“เจ้านายบางท่านบางพระองค์ค้างเงินค่านากันมาตั้งแต่พ.ศ.๒๔๕๖ถึงพ.ศ.๒๔๖๕ รวมถึง๑๐ปี นายอำเภอหรือทางจังหวัดตลอดขึ้นไปท่านก็ทราบได้ดี ท่านก็ไม่กล้าจะตักเตือนหรือยึดที่นาขายทอดตลาดเหมือนราษฎรสามัญ แต่ข้าพเจ้าค้างมาปีเดียวต้องถูกบังคับเช่นนี้ใครจะไม่เสียอกเสียใจบ้าง … ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างมาให้มหาชนทั้งหลายทราบทั่วกัน”

จาก กรรมกร ปีที่ ๒ เล่ม ๓๙ วันเสาร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ,ศ, ๒๔๖๖ (pdf)
คอลัมน์ “จดหมายนายไม่ชอบอยุติธรรม” (ตามคำในสารบาญ) น่า ๖๑๕-๖๑๘

อำเภอรอบกรุง จังหวัดศรีอยุธยา
วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

คำนับมายังท่าน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรรมกร ทราบ

ด้วยข้าพเจ้าขอพึ่งน่ากระดาดของท่านเพื่อขอความยุติธรรมให้เสมอหน้ากับผู้ที่มีนาทั้งหลายบ้าง ดังจะได้บรรยายต่อไปนี้ คือข้าพเจ้ามีนาอยู่ในอำเภอวังน้อยจังหวัดอยุธยา๑แปลง ข้าพเจ้าได้นำเงินค่านาไปชำระที่อำเภอวังน้อยเสมอทุกปี แต่พ.ศ.๒๔๖๔ข้าพเจ้ายังค้างอยู่เพราะทำนาไม่ใคร่จะได้ผล ข้าพเจ้าได้รับจดหมายนายอำเภอวังน้อยให้รีบนำเงินค่านาที่ค้างไปชำระภายใน๑๐วัน ถ้าไม่นำเงินไปชำระตามกำหนดจะยึดที่นาของข้าพเจ้าขายทอดตลาด ข้าพเจ้าต้องเที่ยวกู้เงินเขาไปชำระตามกำหนดแล้ว และข้าพเจ้าเที่ยวสอบถามเรื่องเงินค่านาค้างที่เขามีนาอยู่ในอำเภอนี้ และกำนันผู้ใหญ่บ้านบางคนที่ควรเชื่อถือได้เล่าว่านาเจ้านายยังมีเงินค่านาค้างอีกมากราย ตัวเขาเองปีหนึ่งได้รับส่วนลดค่านาน้อยที่สุดเพราะเจ้านายท่านเก็บเงินค่าเช่านาแลค่านาไปหมดแล้วท่านก็ไม่เสียเงินให้กับรัฐบาล นายอำเภอก็ไม่กล้ายึดที่นา แลข้าพเจ้าเที่ยวสอบถามต่อไปอีกได้ความจริงว่าเจ้านายบางท่านบางพระองค์ค้างเงินค่านากันมาตั้งแต่พ.ศ.๒๔๕๖ถึงพ.ศ.๒๔๖๕ รวมถึง๑๐ปี นายอำเภอหรือทางจังหวัดตลอดขึ้นไปท่านก็ทราบได้ดี ท่านก็ไม่กล้าจะตักเตือนหรือยึดที่นาขายทอดตลาดเหมือนราษฎรสามัญ แต่ข้าพเจ้าค้างมาปีเดียวต้องถูกบังคับเช่นนี้ใครจะไม่เสียอกเสียใจบ้าง เจ้านายท่านได้เงินเดือนก็เหลือใช้อยู่แล้ว ค่าเช่านาของท่านไร่ละ๓บาท คนหนึ่งตั้งหลายพันไร่ยังเก็บเงินค่านาของรัฐบาลจากผู้ทำนาไปไว้ในกำมืออีกท่านไม่เสียค่านาให้แก่รัฐบาล ก็ไม่มีใครทำไมเห็นท่าน(ความยุติธรรม) ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างมาให้มหาชนทั้งหลายทราบทั่วกัน เช่น เจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ค้างมาตั้งแต่พ.ศ.๒๔๕๖ตลอดถึงพ.ศ.๒๔๖๕ เปนเงิน๑๕๐๐เศษ นายกองนาได้เก็บเงินค่าเช่านาแลค่านาไปให้เจ้าของนาหมดแล้ว กรมหมื่นพงษาฯค้างมาเช่นเดียวกับเจ้าพระยายมราชเก็บเงินหมดแล้วเหมือนกัน ยังค้างเงินค่านา๑๕๐๐บาทเศษ สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าค้างมาแต่พ.ศ.๒๔๖๓ถึงพ.ศ.๒๔๖๕แต่นับจำนวนมาถึงพ.ศ.๒๔๖๔ยังค้าง๑๐๐บาทเศษ มหาดเล็กของพระองค์ท่านเก็บเงินหมดแล้วเหมือนกัน พระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมพระดำรงราชานุภาพ ค้างมาแต่พ.ศ.๒๔๖๒ถึงพ.ศ.๒๔๖๕ นับจำนวนเงินตลอดมาถึงพ.ศ.๒๔๖๔ ค้างเปนเงิน๙๐๐บาทเศษ นายกองนาได้เก็บค่านาไปให้พระองค์เสร็จแล้ว พระยาอรรถการฯค้างมาแต่พ.ศ.๒๔๖๓ถึงพ.ศ.๒๔๖๕เปนเงิน๑๕๐๐เศษ คุณหญิงเก็บค่าเช่านาแลค่านาไปหมดแล้ว ผู้ทำนาของท่านบอกว่าค่าเช่าแลค่านาสตางค์เดียวก็ค้างไม่ได้ ถ้าขืนค้างต้องยึดกระบือบังคับให้โอนตั๋วพิมพ์รูปพรรณให้ท่านทันที หม่อมราชวงษ์สุวพรรณค้างมาแต่พ.ศ.๒๔๕๖ถึงพ.ศ.๒๔๖๕เปนเงิน๒,๐๐๐บาทเศษ แลยังมีเจ้านายบางพระองค์บางท่านที่อยู่ทางกรุงเทพยังค้างอยู่อีกมากราย ข้าพเจ้าสาธกยกขึ้นมาเปนตัวอย่างเท่านี้ก็เห็นได้ว่า เหตุใดนายอำเภอตลอดถึงเจ้าเมืองขึ้นไปจึงปล่อยไว้ให้ค้างถึง๙ปี๑๐ปีได้ ส่วนราษฎรสามัญรีดเอาจนไม่มีเงินติดบ้าน หรือจะเห็นว่าท่านเปนพระบรมวงษานุวงษ์แลเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พอจะเชื่อออเนอร์และเกียรติยศได้ว่าถึงอย่างไรท่านก็มีเงินให้ ถึงจะค้างนานก็ไม่เปนไร (โอ้เจ้าประคุณยุติธรรมๆ)

นายไม่ชอบอยุติธรรม

เรื่องที่เจ้าพนักงานเร่งรัดบังคับให้ราษฎรเสียค่านา ถึงกับยึดทรัพย์ขายทอดตลาดนั้น เราได้เคยพูดไว้ในเรื่องเดือดร้อนราษฎร์ขาดประโยชน์หลวงในหนังสือของเรา คราวหนึ่งแล้ว การที่เจ้าพนักงานทำดังนี้ ก็เท่ากับหาทางให้ราษฎร์เปนโจรผู้ร้ายยิ่งขึ้น เพราะราษฎร เมื่อหมดหลักทรัพย์แล้วก็ไม่มีทางที่จะทำมาหากิน เมื่อความจนบีบคั้นหนักเข้า ก็ต้องหันเข้าหาทางทุจริต เรื่องนี้เราขอให้เจ้าพนักงานผู้ทำการเก็บเงินภาษีอากรจงหยิบคำตักเตือน เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ ซึ่ง่ทานเจ้าพระยายมราชได้เรียบเรียงไว่น่า๒๐ ว่าด้วยการเร่งรัดภาษีอากร และการที่ทำเช่นนี้ก็น่าตำหนิอยู่แล้ว ส่วนราษฎรทำไมเร่งรัดเอาได้ ส่วนเจ้านายทำทอดทิ้งไว้ตั้ง๙ปี๑๐ปี หรือว่ามีข้อยกเว้นเปนพิเศษอย่างไร หรือเกรงว่าทำลงไปแล้วจะไม่มีเก้าอี้นั่ง ถ้าดังนี้ก็เปนอันเข้าใจผิด เรื่องเราเชื่อว่าเจ้านายที่ปล่อยให้เงินค่าเช่านาของรัฐบาลติดค้างอยู่มากๆเช่นนั้น คงเปนด้วยความหลงลืม โดยนายกองผู้จัดการแทนไม่ทูลเรียนให้ทรงทราบ, ทราบ, ทรงเข้าพระทัย เข้าใจ, ว่านายกองจัดการเสร็จ และเจ้าพนักงานก็กลัวเกรงอำนาจวาศนาไปเอ็ง ไม่กล้าตักเตือน หรือบังคับได้ เมื่อเจ้าพนักงานยังประกอบด้วยภยาคดีอยู่ดังนี้ไม่สามารถจะจัดการไปได้ เราขอแนะนำว่าควรลาออกเสียดีกว่ารัฐบาลจะได้จัดเจ้าพนักงานผู้สามารถทำการต่อไป มิฉนั้นเงินของรัฐบาล ก็จะคั่งค้างตกต่ำสูญหายไปโดยใช่เหตุ ท่านผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจสูงควรจะสอดส่องหรือตำนิเสียบ้าง

บ.ก.ก.


อ่านตอนถัดไป: ไร้ที่พึ่งในระบบ

https://sis.or.th/moradok-2465-selections-part-2/

ซีรี่ส์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Dissident Dreams ได้รับการสนับสนุนโดย Democracy Discourse Series มหาวิทยาลัยเดอลาซาล ประเทศฟิลิปปินส์