จอห์น สนามหลวง: ร็อค ในสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง

จอห์น สนามหลวง ใต้ทางด่วนดินแดง ภาพถ่ายโดย ปฏิภัทร จันทร์ทอง

อานนท์ ชวาลาวัณย์ สัมภาษณ์

“ผมยังเชื่อว่าสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมันพัดมาแล้ว ตอนนี้ลมมันอาจจะถูกอะไรบางอย่างขวางทางไว้อยู่ แต่มันก็จะถูกขวางแค่ชั่วคราวเพื่อรอให้มีแรงดันที่มากพอ”

จอห์น ชายร่างสูงผมยาววัย 62 ปี กล่าวขึ้นหลังถูกถามว่าคิดอย่างไรกับสถานการณ์หลังการเลือกตั้งปี 66  ที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนก็อยู่ในสภาวะเงียบงัน ขณะที่หน้าตาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ยังมีรัฐมนตรีจากอดีตพรรคร่วมรัฐบาลประยุทธ์สองดำรงตำแหน่งอยู่หลายคน

จอห์น สนามหลวง ไม่ใช่ผู้ชุมนุมระดับแกนนำ ถึงผู้ชุมนุมส่วนมากจะไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเขา แต่ก็อาจเคยได้ยินเสียงของเขามาก่อน ด้วยความที่เขาเป็นนักดนตรีเปิดหมวกที่คอยไปร้องเพลงร็อคฝรั่งตามม็อบ ถือโอกาสใช้พื้นที่ชุมนุมเป็นที่ทำงานของเขาไปด้วย


จอห์น สนามหลวง โชว์ลูกคอด้วยเพลง Back in Black ของ AC/DC
วิดีโอโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์, 18 กันยายน 2564

อาศัยเพียงลำโพงขนาดเล็กและไมค์คู่ชีพหนึ่งตัวจอห์นใช้เสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาขับกล่อมผู้ชุมนุมที่อยู่ห่างออกมาจากหน้าเวที บางครั้งเขาเลือกใช้เพลง Hard Rock จากวง AC/DC หรือ Deep Purple มาสร้างบรรยากาศให้ผู้ชุมนุมรู้สึกตื่นตัว ขณะที่บางครั้งก็ใช้เพลงที่เบาลงมาหน่อย เช่น บทเพลงของ Creedence Clearwater Revival (CCR) วงร็อคอเมริกันที่โลดแล่นอยู่ในยุคปลายทศวรรษที่ 1960 ต่อต้นทศวรรษที่ 1970 เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศ โดยจอห์นมักเลือกที่จะออกมาร้องเพลงให้ห่างจากหน้าเวทีเพื่อให้เสียงของเขาไม่ไปรบกวนกิจกรรมหลัก

ในช่วงปี 2564 ที่การชุมนุมเปลี่ยนรูปแบบจากการชุมนุมแบบมีเวทีขนาดใหญ่ไปเป็นการชุมนุมกลุ่มย่อยที่ไม่มีการตั้งเวทีรวมถึงการชุมนุมแบบเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นที่แยกดินแดงจอห์นก็ยังไปเข้าร่วมการชุมนุมอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะที่แยกดินแดงแม้จอห์นจะรู้ว่ายากที่จะมีคนเอาเงินมาหยอดเป็นสินน้ำใจสำหรับเสียงเพลงของเขา แต่จอห์นก็ยังไปร่วมชุมนุมด้วยเพื่อให้กำลังใจผู้ชุมนุม “ทะลุแก๊ส” ที่เขาเห็นต้องออกมาต่อสู้หลังเผชิญความกดดันและความกดทับต่างๆ  

จอห์นยังคงมีความหวังต่ออนาคต จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมชุมนุมช่วงก่อนปี 2553 เรื่อยมาจนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 63-64 ที่หลายเรื่องที่เคยต้องพูดในวงผู้ชุมนุมกลุ่มย่อย กลายเป็นประเด็นปราศรัยหลักบนเวทีใหญ่

“สมัยก่อนเวลากลุ่มแดงสยามชุมนุมกันในที่ชุมนุมคนเสื้อแดง จะมีคนฟังไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นพวกตำรวจสันติบาลด้วย มาถึงวันนี้ทนายอานนท์กับพวกนักศึกษาเอาเรื่องที่กลุ่มแดงสยามเคยพูด อย่างเรื่องมาตรา 112 ไปพูดบนเวทีหรือบางเรื่องอาจจะไกลกว่าเรื่องที่กลุ่มแดงสยามเคยพูดเสียด้วยซ้ำ ผมเลยเชื่อว่าสุดท้ายความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้น จะช้าหรือเร็วก็แค่นั้น”

จากเพลงจีนสู่ร็อค

“ผมเป็นคนกรุงเทพ เกิดเมื่อปี 2504 ในครอบครัวคนจีน พ่อเป็นจีนแท้ถือใบต่างด้าว ส่วนแม่เป็นคนจีนที่เกิดในไทย”

“ผมอยู่กับเสียงดนตรีมาตั้งแต่เด็ก บ้านผมอยู่ในย่านตลาดที่มีคนจีนอยู่เยอะ คนแถวบ้านเปิดเพลงจีนเสียงดังกันแทบทั้งวัน”

“ตอนเด็กๆผมไม่ได้มีความฝันอะไรเป็นพิเศษ ออกจะเป็นเด็กเกเรด้วยซ้ำ เพื่อนชวนไปไหนก็ไปเรียกว่าเฮไหนเฮนั่น”

“ผมมาเริ่มชอบดนตรีแนวร็อคในช่วงวัยรุ่นเพราะมีเพื่อนคนหนึ่งชวนไปที่บ้าน แล้วบ้านมันมีเครื่องเสียงอย่างดี พอเปิดเพลงของ CCR อย่างเพลง Molina กับเพลง Hey Tonight แล้วเสียงมันกระหึ่มก็เลยฝังใจชอบมาตั้งแต่นั้น”

“นอกจาก CCR แล้วตอนหลังผมก็ได้รู้จักวงอย่าง Led Zeppelin, AC/DC แล้วก็วงร็อคอื่นๆ ผมรู้สึกว่าดนตรีแม่งโดนใจดี ช่วงนั้นเองที่ผมได้เริ่มหัดร้องเพลง หัดเล่นกีตาร์กับเพื่อน ผมพบว่าตัวเองไม่ค่อยมีพรสวรรค์ทางกีตาร์เท่าไหร่ อย่างดีก็ตีคอร์ดก็อกๆแก็กๆไป แต่โซโล่ไม่ค่อยได้ ผมเลยเลือกที่จะไปเอาดีทางการฝึกร้องเพลงมากกว่า”

“เพลงร็อคไทยผมก็ชอบอยู่บ้างนะ อย่างพวกหินเหล็กไฟ เสือธนพล หรือ Y Not 7 แต่ผมก็รู้สึกว่าเพลงฝรั่งมันมีพื้นที่ให้ตีความ ให้ใช้จินตนาการมากกว่า อย่างเพลงไทยเราฟังละมันเข้าใจเลย แต่เพลงฝรั่งมันต้องอาศัยการตีความและการแปลความด้วย คนนึงฟังแล้วแปลไปแบบนึงอีกคนฟังแล้วแปลอีกแบบหนึ่ง มันมีอิสระมากกว่า”

ภาพถ่ายโดย ปฏิภัทร จันทร์ทอง

กำเนิด จอห์น สนามหลวง

“ช่วงประมาณปี 2540 กว่าๆ จำไม่ได้แล้วว่าปีไหนเพราะมันก็ผ่านมานานแล้ว รู้แค่ว่าตอนนั้นเป็นรัฐบาลทักษิณ ผมกลับเข้ามากรุงเทพเพื่อหางานทำ ด้วยความที่ตัวเองไม่ได้เรียนสูง จบแค่กศน.เทียบเท่ามศ.5 ผมก็เลยไปขับแท็กซี่”

“เวลาผมขับแท็กซี่ผมก็มักจะมาจอดรถที่สนามหลวงเพื่อพักผ่อน สมัยนั้นเขายังไม่ห้ามขายของ ผมมักจะมาเดินดูตามร้านขายของเก่ากับร้านขายเครื่องดนตรี พอเจ้าของร้านขายเครื่องดนตรีเห็นผมหยิบกีตาร์มาดู เขาก็ชวนผมว่าลองมาเล่นมาแจมดูไหม ผมก็ตอบตกลงแล้วก็เริ่มไปร้องเพลงอยู่ที่สนามหลวง ตอนแรกก็ไปร้องเล่นๆ แต่เจ้าของร้านเครื่องดนตรีเขามีวงดนตรีชื่อ สนามหลวง Jazz Rock ที่ตอนนั้นขาดนักร้อง เขาก็เลยชวนไปเป็นนักร้องของวงแบบจริงจัง ผมก็ตกลงเลยได้เป็นนักร้องมีวงมีสังกัดกับเขา”

“จริงๆแล้วตัวผมไม่ได้ชื่อจอห์น แต่เวลามาที่สนามหลวงพวกก็ทักกันว่าจอห์น เลนนอน (นักร้องวง The Beatles) มาแล้ว ผมก็บอกไปแล้วว่าผมไม่ได้ชื่อจอห์น อย่ามาเรียกผมชื่อนี้ แต่ก็เหมือนทุกคนปักใจไปแล้วว่าผมชื่อจอห์น สุดท้ายก็เลยต้องปล่อยเลยตามเลย จนผมกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ จอห์น สนามหลวงไป”

“ผมเล่นกับวงได้ประมาณสามถึงสี่ปีก็ตัดสินใจออกมาจากวงด้วยเหตุผลบางอย่างที่คงไม่ขอเล่า แล้วก็ผันตัวมาร้องเดี่ยวแล้วเปิดทำนองดนตรีจากลำโพงเอา”

“ช่วงที่เริ่มเล่นดนตรีกับวงใหม่ๆ ผมก็ยังขับแท็กซี่อยู่ แต่หลังเริ่มเปิดหมวกกับวงได้ประมาณสองถึงสามปีผมเริ่มรู้สึกว่าเศรษฐกิจมันไม่ดีเหมือนแต่ก่อน คนขึ้นแท็กซี่น้อยลงจนบางวันขาดทุน ผมเลยตัดสินใจเลิกขับรถแล้วออกมาทำมาหากินด้วยการเปิดหมวกอย่างเดียว เอาจริงๆรายได้มันก็ไม่เยอะหรอก ดีว่าผมตัวคนเดียวเลยพออยู่ได้ แต่ถ้ามีลูกมีเมียก็คงไม่ไหวเหมือนกัน”

“ผมไม่รู้ว่าคนอื่นจะคิดยังไง แต่สำหรับผมการเปิดหมวกมันเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพและความจริงจัง คุณต้องมั่นใจถึงจะออกไปเปิดหมวกได้ ถ้าเพิ่งหัดเล่นหรือไม่มั่นใจอย่าไปเปิด การเปิดหมวกมันก็เหมือนการเสนอขายสินค้าที่เป็นเสียงกับเพลงของเรา ผมไม่ต้องการให้คนเอาเงินมาให้เพียงเพราะสงสาร แต่ผมต้องการให้คนเอาเงินมาหยอดเพราะเขารู้สึกว่าเพลงที่เรานำเสนอมันโดนใจ หรืออาจจะทำให้เขาย้อนนึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขหรือความทรงจำที่มีกับเพลงๆนั้น”

“ด้วยความที่แนวเพลงของผมมันค่อนข้างจะจำกัด บางทีพอเอาเพลงหนักๆอย่างเพลงของ ACDC ไปร้องแม่ค้าเขาก็บ่นกัน โวยวายกันบ้างว่าไม่ชอบ แต่พอร้องเพลงอย่าง More Than I Can Say เขาก็โอเค ชอบกัน ผมก็เลยต้องบาลานซ์ไปเรื่อยๆระหว่างเพลงที่คนอยากฟังกับเพลงที่เราอยากร้อง”


ร้องเพลงจังหวะเบาๆ อย่าง Sutter’s Mill ของ Dan Fogelberg
ไม่ทราบผู้ถ่ายวิดีโอ, 29 กันยายน 2564

ตื่นรู้หลังพวงมาลัย

“เรื่องการเมืองนะเหรอ ด้วยความที่พื้นฐานผมเป็นเด็กเกเร ผมก็ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองอะไรมาก่อน ประกอบกับผมไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยแล้วยังไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ที่ต่างจังหวัด ก็เลยยังไม่ได้สนใจการเมืองอะไรขนาดนั้น”

“ผมมาเริ่มสนใจการเมืองแบบเป็นเรื่องเป็นราวตอนที่ขับรถแท็กซี่ อาชีพคนขับแท็กซี่นี่เป็นตัววัดสภาพเศรษฐกิจอย่างดี คือพอคนมีเงินเขาก็นั่งรถแท็กซี่ แต่ถ้าไม่มีเงินเขาก็นั่งรถเมล์ สมัยที่ผมมาขับแท็กซี่แรกๆจำไม่ได้แล้วว่าปีไหนแต่น่าจะเป็นช่วงรัฐบาลไทยรักไทย เศรษฐกิจบูมมากเลย มากขนาดที่บางครั้งถ้าคนขับแท็กซี่ตั้งเป้าว่าจะทำเงินให้ได้สัก 1,000 บาทแล้วเลิก ก็ได้เงินครบตามเป้าก่อนจะครบกะ เอารถไปคืนก่อนครบเวลาแล้วเข้าบ้านนอนได้เลย ผมถึงรู้สึกว่าเฮ้ย รัฐบาลทักษิณนี่เขามีฝีมือนะ บริหารงานเป็น เศรษฐกิจดี แถมยังมีนโยบายอย่างสามสิบบาทรักษาทุกโรคที่ทำให้ชีวิตคนรากหญ้าดีขึ้น ตอนนั้นผมคิดเลยว่านี่แหละประชาธิปไตยกินได้ของแท้”

“มันมีอยู่ช่วงหนึ่งผมจำไม่ได้แล้วว่าปีพ.ศ.ไหน แต่เป็นช่วงที่กลุ่มพันธมิตรจัดชุมนุม เวลาผมพักจากการขับแท็กซี่ที่สนามหลวงก็จะมีคนต่อโปรเจคเตอร์ฉายที่พวกสนธิชุมนุมและปราศรัยกันมาดู ที่ดูนี่ไม่ได้ชอบหรอกนะ แต่อยากดูว่าพวกนั้นจะเอาอะไรมาใส่ร้าย เอาอะไรไม่จริงมาพูดอีก”

“พอมาถึงช่วงปี 53 ที่คนเสื้อแดงออกไปชุมนุม ผมยังขับแท็กซี่อยู่แต่ก็ตามไปร่วมชุมนุมเป็นระยะ ถึงผมจะไม่ได้สมัครเป็นการ์ดเป็นอะไรกับเขาแต่ผมก็อยากทำตัวให้เป็นประโยชน์กับคนที่ไปชุมนุมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมก็เลยคอยเดินไปรอบๆที่ชุมนุมคอยดูว่ามีอะไรผิดปกติไหม ระหว่างที่เดินไปเดินมานี่เองที่ผมได้รู้จักกับกลุ่มแดงสยาม คนเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆที่ปราศรัยประเด็นที่เวทีใหญ่ของคนเสื้อแดงกลุ่มนปช.กลุ่มหลักไม่พูดถึงกัน”

“พอได้ฟังกลุ่มแดงสยามปราศรัยผมก็เก็ทเลยว่ามันเหมือนเราถูกหลอกให้เชื่อในอะไรบางอย่าง ว่าเป็นสิ่งที่ดีแบบไม่มีคำถาม ทั้งๆที่หลายๆเรื่องในประวัติศาสตร์มันก็ชวนตั้งคำถาม อย่างเรื่องจอมพลถนอมที่เป็นเผด็จการ เป็นทรราชย์ เคยทำอะไรไม่ดีมาขนาดนั้น ทำไมสุดท้ายยังกลับมาอยู่เมืองไทยได้” 

“ตอนผมไปชุมนุมกับกลุ่มนปช.ใหม่ๆ ผมยังเชื่อว่ามันเป็นเหมือนการแบ่งบทบาทกันระหว่างเวทีใหญ่ของนปช.กับเวทีเล็กของแดงสยาม แต่ก็ค่อยๆมารู้ว่าแดงสยามเหมือนถูกกันออกจากขบวนใหญ่ ทีนี้พอมาเกิดกระแสการชุมนุมช่วงปี 63 ที่มีการหยิบเรื่องที่แดงสยามเคยพูดมาขยายผมก็รู้สึกดี ว่าสิ่งที่แดงสยามเคยทำมามันไม่เสียเปล่า แนวคิดของพวกเขายังถูกเอามาพูดถึงโดยคนรุ่นหลังที่อาจจะเป็นคนรุ่นลูกหรือรุ่นหลาน”

“สมัยก่อนเวลากลุ่มแดงสยามชุมนุมกันในที่ชุมนุมคนเสื้อแดง จะมีคนฟังไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นพวกตำรวจสันติบาลด้วย มาถึงวันนี้ทนายอานนท์กับพวกนักศึกษาเอาเรื่องที่กลุ่มแดงสยามเคยพูด อย่างเรื่องมาตรา 112 ไปพูดบนเวทีหรือบางเรื่องอาจจะไกลกว่าเรื่องที่กลุ่มแดงสยามเคยพูดเสียด้วยซ้ำ ผมเลยเชื่อว่าสุดท้ายความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้น จะช้าหรือเร็วก็แค่นั้น”

จอห์นสนามหลวง Live in Mob

“ช่วงที่มีม็อบปี 63 ผมเลิกขับแท็กซี่แล้ว ได้แต่เล่นดนตรีเปิดหมวกมาพักใหญ่ๆ บ้านผมอยู่แถวชานเมืองไกลจากพื้นที่จัดม็อบ จะไปแต่ละครั้งก็มีต้นทุนค่อนข้างสูง เวลาผมไปม็อบเลยไม่ใช่แค่ไปฟังปราศรัยอย่างเดียว แต่ถือโอกาสไปเปิดหมวกด้วย ครั้งที่มีคนมาดูแล้วก็หยอดเงินให้ผมมากที่สุดน่าจะเป็นการชุมนุมที่สนามหลวง (#19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) ครั้งนั้นคนมาชุมนุมเยอะมากจนน่าจะมีคนหยอดเงินให้ผมหลายพันอยู่”

“นอกจากไปเล่นตามม็อบที่เป็นชุมนุมใหญ่แล้ว ม็อบที่มีการปะทะกันอย่างดินแดงนี่ผมก็ไปร้องเพลงด้วย ถึงจะไกลจากบ้านผมมากและจังหวะที่ม็อบปะทะกับตำรวจก็คงไม่มีใครมาหยอดเงินให้ผมหรอก เอาแค่วิ่งหนีตำรวจให้รอดก็บุญแล้ว แต่ที่ผมไปดินแดงเป็นเพราะผมอยากไปให้กำลังใจน้องๆทะลุแก๊ส เท่าที่ผมสัมผัสพวกนี้เค้าใจถึง น้องๆทะลุแก๊สส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนรากหญ้าที่ไม่ค่อยมีโอกาสอะไรในชีวิต พวกนี้เจอมาหนัก บางคนเป็นไรเดอร์ก็โดนตำรวจเรียกตรวจใบขับขี่บ้าง เรื่องโน้นเรื่องนี้บ้าง หาเรื่องให้จนได้ เพราะคนกลุ่มนี้เค้าไม่มีปากมีเสียง ตำรวจจะทำอะไรคนก็ไม่สนใจ มันไม่เหมือนไปทำกับลูกคนใหญ่คนโตหรือดารา ที่พูดๆกันว่าไม่ทำผิดกลัวอะไรก็อยากให้คนที่พูดลองมาอยู่ในสถานะเดียวกับน้องๆทะลุแก๊สดู”

“ถามว่าเลือกเพลงมาร้องยังไงนะเหรอ ผมก็เลือกร้องเพลงตามบรรยากาศของม็อบ ถ้าม็อบกำลังคึกจะมาร้องเพลงช้าๆเบาๆมันก็คงไม่ใช่ที่ ผมก็จะเลือกเพลงหนักๆอย่างพวก AC/DC หรือ Deep Purple มาร้อง อย่าง Highway Star นี่ผมเอามาดัดแปลงเนื้อนิดหน่อย เติมเนื้อเข้าไปว่า “I hear too” คนได้ยินที่ไหนก็เฮที่นั่น สำหรับผมการร้องเพลงร็อคเร็วๆมันๆในจังหวะที่ม็อบกำลังเดือดหรือกำลังคึกคักเนี่ยมันไม่ใช่การยุยงอะไรเลยนะ ผมก็แค่อยากให้กำลังใจคนที่มาชุมนุมว่าถ้าเขายังสู้อยู่ ผมก็จะยังอยู่ร้องเพลงเป็นกำลังใจให้ทุกคนต่อไป”


ฟัง “I hear too” วินาทีที่ 20 แทรกอยู่ในเพลง Highway Star ของวง Deep Purple
วิดีโอโดยประชาไท, 17 พฤศจิกายน 2563

“บางจังหวะถ้าม็อบกำลังอยู่ในจังหวะปราศรัยแบบเนิบๆไม่มีอะไรตื่นเต้น ผมก็จะเลือกเพลงที่จังหวะเบาลงหน่อยมาร้องอย่าง Have You Ever Seen the Rain หรือ Wind of Change ของ Scorpions ที่พูดถึงสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พัดเข้ามา เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเรา”

“ผมยังเชื่อว่าสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมันพัดมาแล้ว ตอนนี้ลมมันอาจจะถูกอะไรบางอย่างขวางทางไว้อยู่ แต่มันก็จะถูกขวางแค่ชั่วคราวเพื่อรอให้มีแรงดันที่มากพอ”

“อย่างน้อยๆผมก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดของคนแล้ว จากยุคผมเป็นเด็กที่เรื่องบางเรื่องถูกห้ามพูด ผู้ใหญ่ว่าพูดแล้วบาปบ้าง ขี้กลากขึ้นหัวบ้าง ใช้ประเพณีกับความเชื่อทางศาสนามากดไว้ แล้วถึงวันนี้เป็นไง เอาความคิดแบบนั้นมาหลอกคนสมัยนี้ไม่ได้แล้ว”


บทความนี้ร่วมกันผลิตระหว่างพิพิธภัณฑ์สามัญชนและมูลนิธิสิทธิอิสรา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Dissident Dreams ได้รับการสนับสนุนโดย Democracy Discourse Series มหาวิทยาลัยเดอลาซาล ประเทศฟิลิปปินส์