รายงานกองทุนราษฎรประสงค์ประจำปี 2566 ตอนที่ 3: จำเลยในเขาวงกต

ออกแบบกราฟิกโดย ศูนย์สองสตูดิโอ

สิ่งที่เรียกว่า “สิทธิในกระบวนการยุติธรรม” อาจชวนให้คาดหวังว่าจะมีขั้นตอนเป็นลำดับ คืบตามเวลาเป็นเส้นตรงไปข้างหน้าจนถึงปลายทางไม่ว่าทางหนึ่งทางใด มิใช่การวกกลับสู่จุดเดิม ว่าผู้ที่เข้าสู่กระบวนการจะได้เข้าถึงสิทธิที่พึงมี อันตั้งต้นจากสิทธิที่จะรับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี ก่อนจะเข้าสู่สนามที่แท้จริงคือสิทธิการต่อสู้ในคดีนั้นๆอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะผลสัมฤทธิ์ของการต่อสู้คดีมิได้อยู่แค่ตรงที่การ “ได้ประกัน” หรือ “ไม่ได้ประกัน”  แต่ในเมื่อความเป็นจริงสำหรับจำเลยคดีการเมืองจำนวนไม่น้อยมิได้เป็นเช่นนั้น มันจึงกลายเป็น “เขาวงกต”

ในปี 2566 ที่ผ่านมา จำเลยจำนวนมากขึ้นๆได้พลัดเข้าไปอยู่ในส่วนลึกของเขาวงกตกระบวนการยุติธรรม จนเข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือหลายประเภทในปีเดียวกัน แผ่น “วงซ้อนวง” ต่อไปนี้นำเสนอสถิติการช่วยเหลือสามประเภท ได้แก่ เงินประกันที่วางเมื่อเริ่มเข้ากระบวนการแต่ละชั้น (นับเฉพาะที่ยังคงค้างในศาลตอนสิ้นปี 2566), เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเดินทางในระหว่างต่อสู้คดี (นับตลอดปี), และเงินช่วยเหลือในเรือนจำหลังเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ต้องขัง (นับตลอดปี) สามวงนี้ทับซ้อนกันอย่างซับซ้อนจนเป็นเขาวงกตระดับน้องๆเขาวงกตกระบวนการยุติธรรม

พื้นที่ทับซ้อนบางส่วนนั้นเข้าใจได้ไม่ซับซ้อนนัก เช่น พื้นที่สีเหลืองของการทับซ้อนกันระหว่างเงินประกันกับเงินช่วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั้น เป็นเพราะจำเลยได้ขอเบิกเงินค่าเดินทางในระหว่างที่คดีซึ่งประกันไว้ยังไม่สิ้นสุด จึงยังมีเงินประกันคงค้างในเวลาสิ้นปี หรือในอีกกรณีคือ แม้จำเลยเบิกค่าเดินทางหลังจากคดีสิ้นสุดแล้วและกองทุนฯได้รับเงินประกันในคดีนั้นๆคืนแล้ว แต่จำเลยยังมีคดีอื่นที่ยังไม่สิ้นสุดที่กองทุนฯวางประกันไว้ เป็นต้น

ที่ผู้อ่านอาจจะงงที่สุดคงเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเงินประกันกับเงินช่วยในเรือนจำ (สีม่วงและสีขาว) ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 7+11=18 คน ว่าจำเลยที่กลายเป็นผู้ต้องขังแล้วจะยังมีเงินประกันคงค้างในศาลได้อย่างไร คำอธิบายหนึ่งก็คือคนในหลืบลึกนี้หลายคนเคยได้สิทธิประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีแต่ต่อมาถูกคุมขัง เงินประกันยังอยู่ระหว่างรอรับคืนหรือทำเรื่องถอนคืนในกรณีที่เงินประกันที่คงค้างเป็นของคดีอื่นของศาลอื่น อีกคำอธิบายหนึ่งคือบางคนถูกคุมขังอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะได้รับสิทธิประกันตัวในปีเดียวกัน จึงมีเรคคอร์ดการช่วยเหลือทั้งสองประเภท

ทั้งนี้ เรคคอร์ดการช่วยเหลือที่นับได้ทั้งสิ้น 663 คนนี้ ไม่นับรวมกรณีที่เมื่อยื่นประกันแล้วจำเลยได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ บ้างศาลให้ปล่อยชั่วคราวโดยการสาบานตน บ้างผู้พิพากษาก็ “งดออกหมายขัง” (สาธุ!) กรณีเหล่านี้มีอยู่ 32 คนในปี 2566 ซึ่งในจำนวนนี้มี 4 คนที่ไม่มีคดีอื่นในข่ายความช่วยเหลือของกองทุนฯ ขณะที่ 28 คนที่เหลือถูกนับไปแล้วในพื้นที่ทับซ้อนสีเหลืองระหว่างเงินประกันกับเงินช่วยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (15 คน) กับพื้นที่สีเขียวเฉพาะเงินช่วยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (13 คน) ดังนั้นตำแหน่งแห่งที่ของจำเลยทั้งสี่จึงอยู่นอกกำแพงเขาวงกตการช่วยเหลือของเรา

แผ่นถัดไป “ยอดเงินประกันตามจำนวนคดีติดตัว” มุ่งแสดงให้เห็นว่า เงินประกันของคนมีคดีติดตัวน้อย เมื่อรวมกันมากครั้งเข้าก็มีน้ำหนักเทียบเท่าเงินประกันของคนมีคดีติดตัวมาก ทำนองเดียวกับการวิเคราะห์เงินบริจาคตามหมวดหมู่ในรายงานประจำปีกองทุนฯ ปี 2565 ที่ได้สรุปไว้ว่า “การบริจาคก้อนน้อยที่รวมกันมากครั้งเข้า ก็มีพลังเทียบเท่าการบริจาคก้อนใหญ่”

โดยเราพบว่า คนมีคดี 1-2 คดีติดตัว รวมกันแล้วมียอดเงินประกันมากถึง 25.77 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.6 ของเงินประกันคงค้างในศาลทั้งหมด (ไม่นับที่ถูกริบ) ในขณะที่ยอดเงินประกันคนมีคดีติดตัว 3 คดีขึ้นไป ซึ่งอาจเรียกอย่างหยาบๆได้ว่า “แกนนำ” นั้นกลับเป็นส่วนน้อย แม้กระทั่งจำเลยที่มีคดี 10 คดีขึ้นไปซึ่งมีอยู่ 6 คนนั้นก็รวมยอดเงินประกันออกมาได้ 8,245,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 17.5 ซึ่งพอๆกันกับยอดประกันของคนมีคดีติดตัว 2 คดีซึ่งมีอยู่ 57 คน

กล่าวอีกแบบได้ว่า ต่อให้เงินประกันตัวแกนนำไม่ได้กลับมาสู่กองทุนฯแม้แต่บาทเดียว ก็จะยังเหลือเงินบริจาคเกินครึ่งที่กองทุนฯสามารถนำมาหมุนให้จำเลยและผู้ต้องขังได้ต่อไป

แผ่นถัดไป “เจาะลึกคนมีคดีเดียว” ซอยย่อยลงไปอีกให้เห็นว่าในบรรดาคนมีคดีติดตัวน้อยนั้น คนที่มีวงเงินประกันต่ำก็มียอดเงินประกันรวมกันได้พอๆกับคนที่มีวงเงินประกันสูง เช่น สังเกตได้ว่าวงเงินประกันต่ำกว่า 40,000 บาท รวมยอดสีขาวกับสีแดง (273,500+3,930,000=4,203,500 บาท) แล้วก็เท่าๆกับยอดสีเขียวเข้มของวงเงินประกัน 100,000-199,999 บาทพอดี (4,180,000 บาท) เป็นต้น นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของเม็ดเงินที่ดูไม่หวือหวา แต่เมื่อคูณตามจำนวนคนออกมาแล้วใหญ่โต

แผ่นสุดท้าย “วิเคราะห์เงินช่วยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง” เรานำข้อมูลเงินช่วยเหลือจำเลยมากางให้ดูโดยละเอียดขึ้นไปอีกยิ่งกว่าในตอนที่แล้ว ให้เห็นการกระจายตัวของเงินช่วยเหลือจำเลยทั้ง 375 คน

ตัวเลขค่ามัธยฐาน 5,500 บาทหมายความว่า ถ้าท่านเป็นจำเลยที่ได้รับเงินช่วยมากกว่า 5,500 บาทในปีที่ผ่านมา หมายความว่าท่านอยู่ครึ่งหน้าของผู้ได้รับเงินช่วยแล้ว แม้ว่าท่านอาจได้ไม่ถึงค่าเฉลี่ยก็ตาม

สังเกตว่าค่าเฉลี่ย 11,369.18 บาท สูงกว่าค่ามัธยฐานกว่าเท่าตัว ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีผู้ได้รับเงินช่วยจำนวนหนึ่งได้เงินช่วยสูงกว่าคนส่วนใหญ่หลายเท่าตัว อันได้แก่บรรดาผู้มีคดีติดตัวหลายคดีที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดตามนัดศาลที่บางคนขึ้นไปจนถึงหลักแสนบาท ค่าเฉลี่ยซึ่งคำนวณจากการนำเงินช่วยเหลือทั้งหมดมากองรวมกันแล้วหารด้วยจำนวนผู้ได้รับการช่วยเหลือนั้น จึงถูกดึงให้สูงขึ้นมากว่าค่ามัธยฐาน

ดังที่ได้กล่าวในตอนต้น ทางออกจากกระบวนการยุติธรรมที่เป็นเขาวงกตนี้ มิได้อยู่แค่ตรงที่การได้ประกันหรือไม่ได้ประกัน (ไม่ต้องพูดถึงการละทิ้ง/หลบหนี) แต่ในระหว่างที่ภาวะเขาวงกตนี้ยังคงดำเนินต่อไป กองทุนฯก็จะยังคงพยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการประคับประคองไว้ — ในระหว่างที่เรายังคงพบกันใหม่ในจุดเดิม

อ่านตอนต่อไป “ผู้ต้องขังในเขาวงกต”:

อ่านตอนที่แล้ว: