รายงานกองทุนราษฎรประสงค์ประจำปี 2566 ตอนที่ 4: ผู้ต้องขังในเขาวงกต

ออกแบบกราฟิกโดย ศูนย์สองสตูดิโอ

ในปี 2566 ที่ผ่านมา กองทุนราษฎรประสงค์ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังทั้งสิ้น 48 คนในเรือนจำและทัณฑสถานรวม 9 แห่ง ในภาพแรก แผ่น “ไทม์ไลน์ต้องขัง” เราจำแนกให้เห็นว่าผู้ต้องขังในจำนวน 48 คนนี้แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มชั้นบนคือผู้ถูกคุมขังโดยที่ศาลยังไม่ได้พิพากษา หรือที่ภาษาถิ่นย่านโรงศาลเรียกโดยสำเหนียกอยู่ว่า “ขังระหว่างพิจารณาคดี” กลุ่มชั้นกลางซึ่งมีมากกว่าเพื่อน คือผู้ที่คดีอยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา โดยในจำนวนนี้เป็นการอุทธรณ์หรือฎีกาสู้คดี 20 คน และอุทธรณ์เพื่อขอลดโทษหลังจากให้การสารภาพ 8 คน ส่วนกลุ่มชั้นล่างคือผู้ต้องขังซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว

จากภาพ จะเห็นได้ว่ามีผู้ต้องขัง 6 คนที่พลัดจากชั้นบนลงมาชั้นกลางในช่วงกลางปี นั่นหมายความว่า พวกเขาคือจำเลยที่กลายเป็นผู้ต้องขังตั้งแต่ในระหว่างพิจารณาคดีและรวมถึงต่อมาในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยในจำนวนนี้มี 5 คนที่สังเกตได้ว่าเส้นเวลาเปลี่ยนเป็นสีเทาอยู่ช่วงหนึ่ง นั่นหมายถึงมีช่วงเวลาหนึ่งที่พวกเขาได้รับสิทธิประกันตัวหลังจากถูกคุมขังไม่ให้ประกันมาในปีก่อนหน้า ครั้นต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา พวกเขาก็กลับไปเป็นผู้ต้องขังอีกครั้งเมื่อไม่ได้รับสิทธิประกันในชั้นอุทธรณ์

และจะสังเกตได้ว่ามีอีก 1 คนที่พลัดวูบเดียวจากชั้นบนลงไปถึงชั้นล่าง เขาเป็นจำเลยคนเดียวที่เราดูแลในปีที่ผ่านมาที่กลายเป็นผู้ต้องขังตั้งแต่ชั้นสอบสวนก่อนพิจารณาคดี ต่อมาเขาได้รับการปล่อยชั่วคราวเพียงหนึ่งเดือน ก่อนถูกขังไม่ให้ประกันอีกครั้งระหว่างพิจารณาคดี เขาตัดสินใจรับสารภาพในสภาพจำเลยที่ไม่ได้ประกัน ในนัดศาลที่ไม่มีทนายความมา และเมื่อศาลพิพากษาจำคุกเขาก็ตัดสินใจไม่อุทธรณ์ เพื่อรับโทษให้จบๆกระบวนการยุติธรรมไป

ทั้งนี้ แผนภาพข้างต้นเจาะเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิการประกันตัว อย่างไรก็ดี เพื่อความเข้าใจที่ครอบคลุมกว่านั้น ควรหมายเหตุไว้ด้วยว่า ผู้ต้องขังทั้ง 48 คน เป็นผู้ต้องขังในเหตุคดีและแนวทางการต่อสู้คดีที่แตกต่างกันไป จำแนกเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  • (ก) คดีจากเหตุรุนแรงหรือการทำลายทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม 25 คน ในจำนวนนี้ใช้แนวทางต่อสู้คดี 16 คน แนวทางสารภาพ 9 คน
  • (ข) คดีหลักตามมาตรา 112 จำนวน 15 คน ในจำนวนนี้ต่อสู้คดี 9 คน (มีทั้งต่อสู้ว่าไม่ได้ทำตามฟ้อง และต่อสู้ว่าทำแต่ไม่ผิด) แนวทางสารภาพ 5 คน แนวทางปฏิเสธแล้วสารภาพแล้วพยายามปฏิเสธอีกครั้งแต่ศาลไม่อนุญาต 1 คน
  • (ค) คดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ จำนวน 2 คน ในจำนวนนี้ต่อสู้คดีจนสิ้นสุด 1 คน สารภาพ 1 คน
  • (ง) คดีเกี่ยวกับความมั่นคงอื่นๆ จำนวน 6 คน ใช้แนวทางต่อสู้คดีทุกคน

ทั้งนี้ ควรหมายเหตุไว้อีกด้วยว่า ในปัจจุบัน (ณ เดือนกรกฎาคม 2567 ที่เผยแพร่รายงานนี้) ไม่มีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีแล้ว ผู้ต้องขังชั้นบนในแผนภาพได้รับคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งหมดแล้ว (ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีรุ่นใหม่ของปี 2567 เพิ่งได้รับการประกันตัวไปทั้งหมดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา) คงเหลือผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ซึ่งยังรอสิทธิการประกันตัวต่อไป กับผู้ต้องขังซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วที่กองทุนฯจะยังคงดูแลพวกเขาต่อไปจนกว่าจะพ้นโทษ หรือได้รับการอภัยโทษ

ความช่วยเหลือของกองทุนฯแก่ผู้ต้องขัง คือการฝากเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ต้องขังโดยตรงในอัตราคงที่ 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน เป็นการจ่ายตามนัดหมายในระบบปฏิทินของกองทุนฯเอง ไม่ต้องให้ญาติเป็นผู้มาขอเบิก เป็นการช่วยเหลือในลักษณะตรงถึงผู้ต้องขัง ไม่มีระบบซื้อของฝากหรือทำแทน ซึ่งความตรงไปตรงมานี้ควรดำเนินไปได้โดยง่ายตามแนวทางระเบียบที่เรือนจำกำหนดไว้ให้ แต่ในความเป็นจริงกลับสลับซับซ้อนกว่านั้น

ความซับซ้อนที่ว่านี้สืบสาวที่มากลับไปได้ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 ที่ไม่เพียงมีการยกเลิกเรือนจำหลักสี่ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ถูกตัดสินว่าทำความผิดในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แต่อนุสนธิจากรัฐประหารครั้งนั้นยังรวมถึงการนำแนวปฏิบัติ “โควตาเยี่ยมญาติ 10 คน” ที่เคยมีการวางไว้อย่างยืดหยุ่นในข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังฯ พ.ศ. 2555 มาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด (ข้อบังคับระบุว่า “จะกำหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะให้เข้ามาพบหรือติดต่อกับตนภายในเรือนจำไว้ล่วงหน้าก็ได้” นั่นคือ จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แล้วแต่กรณี แต่ปัจจุบันคือต้องทำทุกกรณี) อันส่งผลกระทบต่อผู้ต้องขังโดยรวมทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะคดีการเมือง และกระทบหนักขึ้นไปอีกเมื่อเรือนจำหลายแห่งพลอยบังคับให้ผู้ที่จะฝากเงินได้ต้องเป็น 1 ในรายชื่อ 10 คนนั้นด้วย ความยุ่งยากนี้บรรเทาลงบ้างเมื่อในปี 2563 กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบให้เรือนจำแต่ละแห่งตั้งระบบ e-payment หรือรับจ่ายเงินฝากเข้าเรือนจำทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เพียงน่าจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ราชการในทางธุรการและลดสภาวะแออัดของผู้ใช้บริการหน้างาน แต่ยังส่งผลบุญช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในภาวะโรคระบาดและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางไปฝากเงินให้ญาติด้วยตนเองด้วย ระบบนี้ส่งเงินตรงถึงผู้ต้องขังได้ทันที เพียงมีบัตรฝากเงินที่ญาติ หรือเพื่อนมิตร หรือนายประกันของผู้ต้องขังทำไว้ กองทุนฯเองก็ควรจะสามารถโอนเงินผ่านคิวอาร์โค้ดในบัตรฝากเงินได้โดยไม่ซับซ้อนอะไร ดังปรากฏเป็นความคาดหวังของเราในภาพที่ 2 คือ ผังงาน “ฮาวทูฝากเงินเข้าเรือนจำ: ความคาดหวัง”

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติแล้วเราพบสิ่งที่ผิดความคาดหมายในหลายระดับ ดังแสดงไว้ในผังงานที่กลายเป็นเขาวงกตชื่อ “ฮาวทูฝากเงินเข้าเรือนจำ: ความเป็นจริง”

สิ่งที่ไม่ตรงกับความคาดหวังนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ในขั้นพื้นฐานที่ว่า ใช่ว่าระบบฝากเงินออนไลน์จะเป็นมาตรฐานที่มีเสมอกันได้ในทุกเรือนจำ  ในบรรดาเรือนจำและทัณฑสถานจำนวน 9 แห่งที่เราข้องแวะในปี 2566 ปรากฏว่ายังคงมีบางแห่งเช่นทัณฑสถานหญิงชลบุรี ที่ยังไม่มีระบบฝากเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ให้ ซึ่งเมื่อกลับไปอ่าน “ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการรับจ่ายเงินฝากของผู้ต้องขังในเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓” ตรงข้อความว่า “เรือนจำสามารถจัดให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาดำเนินการแทนได้” จึงได้ถึงบางอ้อเข้าใจว่า สามารถ = อาจ = ทำหรือไม่ทำก็ได้

ทว่าการมีระบบ e-payment ก็ไม่ได้รับประกันบรรทัดฐานของประสิทธิภาพที่รวดเร็วและการไม่เลือกปฏิบัติเสมอไป เมื่อทุกอย่างยังคงอยู่ภายใต้ระบบดุลพินิจ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่เรือนจำสามารถใช้ดุลพินิจปฏิเสธการขอทำบัตรฝากเงินได้ด้วยเหตุผลหลายระดับ ตั้งแต่ผู้ขอทำบัตรไม่ได้อยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าเยี่ยม, ผู้ขอทำบัตรแม้อยู่ในรายชื่อเข้าเยี่ยมแต่ไม่ใช่ญาติโดยสายเลือด, ผู้ขอทำบัตรแม้อยู่ในรายชื่อเยี่ยมแต่ไม่มีทะเบียนสมรส หรือบางครั้งเป็นเหตุผลจากคุณสมบัติฝั่งผู้ต้องขัง เช่นว่า เพิ่งเข้ามาในเรือนจำยังไม่ถึงหนึ่งเดือน, คดียังไม่พิพากษาถึงที่สุด ฯลฯ ทำให้การเดินทางไปทำบัตรฝากเงินที่เรือนจำหลายครั้งเสียเที่ยว ญาติต้องฝากเงินสดเข้าเรือนจำไปก่อนในงวดนั้นแล้วกรอกเอกสารส่งให้กองทุนฯ อนุมัติโอนชดเชยเงินฝากพร้อมค่าเดินทางไปเรือนจำ หรือบางครั้งในระหว่างที่รอการอนุมัติบัตรฝากเงิน ก็จำเป็นต้องกลับไปอาศัยพึ่งพิงทนายความให้เป็นธุระฝากเงินสดให้ก่อน

หากไม่สามารถฝากเงินออนไลน์และไม่อาจเดินทางไปฝากเงินสด ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คือการส่งธนาณัติทางไปรษณีย์ไปที่เรือนจำ ซึ่งระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับเดียวกันระบุขั้นตอนว่า “การรับธนาณัติ ให้เจ้าหน้าที่รับฝากลงทะเบียนรับไว้แล้วไปรับเงินโดยมิชักช้าภายในกำหนด ๗ วันทำการ” อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติผู้ฝากยังต้องคอยโทรศัพท์ถามเรือนจำว่าเงินถึงปลายทางแล้วหรือไม่  เจ้าหน้าที่มักอธิบายว่าต้องรอรวมธนาณัติไปเบิกพร้อมกันเป็นรอบๆ ซึ่งอาจใช้เวลาทั้งสิ้นราวสองสัปดาห์หรือแล้วแต่กรณีไป ในบางกรณีเราพบว่าใช้เวลาถึง 20 วันนับจากวันฝากส่ง กว่าที่เงินจะถึงมือผู้ต้องขัง

ส่วนที่น่าอัศจรรย์ที่สุดคงเป็นว่า บรรดาสารพัดหลักฐานยืนยันพิสูจน์ตัวตนและความสัมพันธ์รวมถึงบรรดาข้อมูลสำเนาทะเบียนบ้านสำเนาบัตรประชาชนสำเนาสมุดบัญชีธนาคารและบรรดาข้อมูลติดต่อทั้งหลายที่เรือนจำกำหนดให้ต้องยื่นประกอบการอนุมัติเพื่อจะให้ได้มีสิทธิเป็นผู้เยี่ยมหรือผู้ฝากเงินนั้น การดำรงอยู่และความหมายของมันล้วนปลาสนาการไปสิ้นทันทีเมื่อมีการย้ายผู้ต้องขัง ต้องเริ่มต้นกันใหม่ที่ทางเข้าเขาวงกต และที่อัศจรรย์อย่างมิอาจเข้าใจได้คือข้อมูลติดต่อเหล่านั้นจะไม่เคยถูกใช้จริงในการติดต่อแจ้งญาติว่าผู้ต้องขังถูกย้ายไปที่อื่นแล้ว บรรดาเงินฝาก (หรือกระทั่งค่าอาหารและสินค้าเรือนจำที่ญาติซื้อฝากผ่านทางเว็บไซต์) จึงยังถูกส่งเข้าบัญชีเรือนจำต่อไปแม้ผู้รับ “ไม่มีตัว” อยู่ที่นั่นแล้ว ส่วนการขอคืนเงินที่โอนไปแล้ว(ถึงเรือนจำแต่)ไม่ถึงผู้รับนั้นก็แล้วแต่กรณี กรณีที่โอนเงินไปทันก่อนบัญชีผู้ต้องขังในเรือนจำเดิมจะปิด เรือนจำเดิมอาจโอนต่อไปให้เรือนจำใหม่ แต่หากโอนหลังบัญชีปิดแล้ว ก็จะต้องติดตามต่อว่าเงินอยู่ที่ไหน ซึ่งคำตอบจากเรือนจำมีได้หลายแบบตั้งแต่ตีกลับเข้าบัญชีธนาคารผู้โอนผ่านคิวอาร์, ตีกลับเข้าบัญชีธนาคารเจ้าของบัตรฝากเงิน หรือโอนไปเรือนจำใหม่ หรือค้างอยู่ที่ธนาคารสาขาที่เรือนจำเปิดบัญชีไว้ ให้ญาติไปติดต่อธนาคารเอง 

ความยุ่งยากในทางธุรการอันมีจุดตั้งต้นมาแต่สภาพหลังรัฐประหารเมื่อสิบปีที่แล้วเหล่านี้ มีหลักการและเหตุผลรองรับไว้ในข้อบังคับเพียงว่า “เพื่อประโยชน์ด้านการควบคุมหรือความมั่นคงของเรือนจำ” ซึ่งไม่ชัดเจนว่าแปลว่าอะไร แต่ที่แน่ๆ คือดูจะขาดความตระหนักถึงภาวะในความเป็นจริงของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ซึ่งเป็นภาวะร่วมของบรรดาผู้ต้องขังและครอบครัวส่วนใหญ่เช่นกัน นั่นคือพวกเขาส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย มีการงานไม่มั่นคง มีสถานะครอบครัวไม่สมบูรณ์ไม่ว่าในแง่เอกสารหรือในทางอุดมคติ  ส่วนใหญ่ภูมิลำเนาครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด ฯลฯ อีกทั้งเป็นข้อบังคับที่ไม่ชัดเจนว่าส่งผลดีอย่างไรต่อการฟื้นฟูพฤตินิสัยเพื่อให้ผู้ต้องขังพร้อมในการกลับคืนสู่สังคม แต่ที่แน่ๆ คือมันส่งผลให้ครอบครัวของผู้ต้องขังต้องพลอยผจญวิบากเสมือนต้องให้บำเพ็ญทุกรกิริยาราวกับต้องโทษไปด้วยกันแม้ไม่ได้ต้องขังก็ตาม

อ่านตอนต่อไป:

อ่านตอนที่แล้ว: