การลงเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของ วรัญชัย โชคชนะ

อานนท์ ชวาลาวัณย์ สัมภาษณ์
วรกมล องค์วานิชย์ เรียบเรียง

“ถ้าผมจะลงเลือกตั้ง จะต้องเป็นพรรคที่มีแนวคิดประชาธิปไตยเท่านั้น” คือคำพูดของ วรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อชาติในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 นี่เป็นการลงเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของเขา หลังจากผ่านการลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วถึง 17 ครั้งด้วยกัน ตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา ก็นับเป็นเวลากว่า 40 ปี ที่วรัญชัยเดินอยู่ในเส้นทางสายประชาธิปไตย คำที่เขานิยามได้ชัดเจนและยึดถือมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

ม็อบแรกที่สนามหลวง

ก่อนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มตัว วรัญชัย โชคชนะ เคยอยู่ในสถานการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งในขณะนั้นเขารับราชการครู เขาเล่าว่า “ในวันนั้นผมเห็นตอนคนออกมาจากธรรมศาสตร์ก็ถูกตี ถูกแทง ถูกรัดคอแขวนต้นมะขาม หลายคนถูกของแข็งและเก้าอี้ตี มีการเผาศพต่อหน้าต่อตา เสร็จแล้วก็มีโอกาสได้เข้าไปในธรรมศาสตร์เพราะอยู่ในชุดข้าราชการ ทำให้ได้เห็นศพของประชาชนอยู่หน้าหอประชุมใหญ่ ในสนามฟุตบอล ปรากฏว่าเห็นเจ้าหน้าที่ต้อนประชาชนออกมาจากตึก และให้คลานคว่ำหน้า ผู้ชายถอดเสื้อเหลือแต่กางเกง ส่วนผู้หญิงในตอนแรกจะให้ถอดเสื้อ แต่มีคนห้ามไว้ ต่อไปก็ให้คว่ำหน้ากับพื้น นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจการเมืองในปี 2519 และปีต่อมาผมก็เริ่มสนใจการเมืองมากขึ้นๆ”

ถึงปี 2521 วรัญชัยเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองและพูดไฮด์ปาร์คที่สนามหลวงเป็นครั้งแรกในการไล่รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เขาพูดย้ำว่าตนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะรัฐบาลนั้นจะไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตยอีกต่อไป

“ตอนนั้นผมยังไม่มีชื่อเสียง ยังไม่มีคนรู้จัก ก็จะพูดได้สบาย ข้อดีคือเป็นคนทำงานทั่วๆไป

สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีโซเชียลมีเดีย คนส่วนใหญ่ฟังแต่วิทยุกับโทรทัศน์ เลยทำให้ไม่เป็นข่าว” วรัญชัยกล่าว

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเขาทำกิจกรรมบ่อยครั้งขึ้น และได้รับความสนใจมากขึ้น จนมีคำพูดว่า “มีม็อบที่ไหน มีวรัญชัยที่นั่น” ในการประท้วงขับไล่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  วรัญชัยเริ่มเป็นคนนำขบวนและขึ้นเวทีปราศรัยบ่อยขึ้น จนปี 2528 เจ้าหน้าที่รัฐสืบรู้ว่าวรัญชัยรับราชการครู เขาจึงถูกกลั่นแกล้งให้ย้ายจากโรงเรียนเขตราชเทวีออกนอกเมืองไปอยู่เขตหนองจอก เพื่อสกัดกั้นการทำกิจกรรมของเขา เขาจึงได้ลาออกมาทำกิจกรรมเต็มตัวในปี 2529

“หิวแสงแต่เป็นแสงประชาธิปไตย”

เมื่อเอ่ยชื่อ วรัญชัย โชคชนะ สิ่งที่หลายคนมองเห็นคือนักเคลื่อนไหวรุ่นเก่าที่มักเข้าร่วมการชุมนุมอยู่เสมอและมีวิธีการตั้งคำถามที่เป็นเอกลักษณ์ในวงเสวนา คำถามและความเห็นของเขาถูกใจใครหลายคน แต่ก็มีเสียงอีกด้านที่บอกว่าวรัญชัยเป็นคนน่ารำคาญ  อีกสิ่งที่เห็นได้บ่อยครั้งเมื่อมีงานเสวนาเกี่ยวกับการเมือง วรัญชัยจะถือพานรัฐธรรมนูญใบใหญ่ที่ด้านบนมีรถถังแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการไปเกือบทุกครั้ง

วรัญชัยกล่าวถึงที่มาของพานนั้นว่า

“ตามธรรมดารัฐธรรมนูญก็อยู่บนพาน ผมคิดว่ายุคนี้มันมีทหารมาคุม ผมเลยเอารรถถังตั้งไว้ข้างบน เป็นรัฐธรรมนูญภายใต้เผด็จการ ภายใต้รถถัง มันก็ต้องร่างมาเพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เหมือนเป็นการนำเสนอความจริง ก็คือทหารแต่งตั้ง สว ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ประชาธิปไตยเขาไม่ทำแบบนี้หรอก ความหมายของพานเป็นแบบนั้น”

และเมื่อชวนพูดคุยถึงภาพจำด้านลบที่สังคมส่วนหนึ่งมีต่อเขา วรัญชัยตอบว่า “ผมก็ไม่รู้ เราก็พยายามปรับปรุงตัวเอง พยายามพัฒนาตัวเองให้มีคำถามที่น่าฟังน่าสนใจ”

ดังเช่นวาทะหนึ่งที่เขายอมรับว่าตนเอง “หิวแสงแต่เป็นแสงประชาธิปไตย” ที่เป็นที่ฮือฮาในหน้าสื่อ เขาได้สะท้อนความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “ระยะหลังคนชอบพูดถึงเรื่องหิวแสง หมายถึงการอยากเป็นข่าวเหลือเกิน ผมคิดว่าถ้าไม่มีเนื้อหาไม่มีเหตุผลประชาชนเขาก็ไม่ให้แสงหรอก อยากจะเป็นข่าวแทบตายแต่ถ้าไม่มีเหตุผลคนก็ไม่สนใจ ถ้าจะต้องถูกหาว่าหิวแสงเพราะสู้เรื่องประชาธิปไตย ก็ยอมเป็นข่าว เพื่อต่อต้านเผด็จการ ส่วนสื่อมวลชนจะสนใจหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง มันอยู่ที่เราแล้ว”

นอกจากถูกบีบให้ออกจากราชการเมื่อหลายสิบปีก่อน วรัญชัยยังถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการเมืองอีกหลายคดีด้วยกัน ทั้งคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ถูกดำเนินคดีที่สน.ปทุมวัน คดีประท้วงหน้าสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์โดยกลุ่มReDem สน.ลุมพินี ข้อหาเข้าร่วมการชุมนุม และคดีจากการเข้าร่วมชุมนุมยืนหยุดขัง ปล่อยผู้ต้องหาทางการเมือง หน้าศาลอาญา วรัญชัยเล่าว่าแต่ละคดีก็จบที่โรงพัก ยกเว้นคดีปทุมวันที่ต้องไปแสดงตัวที่อัยการ 

วรัญชัยกล่าวถึงการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ถือเป็นความหวังในช่วงปี 2563-2566 ไว้ว่า 

“ผมเห็นด้วยที่นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว แต่ถ้าไปไล่นายกที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเช่นที่ผ่านมาอย่างคุณทักษิณ คุณสมัคร คุณสมชาย หรือคุณยิ่งลักษณ์นี่ผมไม่เห็นด้วย เพราะมาจากการเลือกตั้ง” วรัญชัยได้ตอบทิ้งท้ายไว้อย่างตรงไปตรงมา 

เมื่อเจาะลึกลงไปถึงข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 วรัญชัยไม่ได้คัดค้านเช่นผู้ใหญ่วัยไล่เลี่ยกันจำนวนมาก ทว่ายังสนับสนุนข้อเรียกร้องแก้ไขและยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 

“ผมมีความเห็นของผม นอกจากคุณประยุทธ์ไม่มีความชอบธรรมในด้านการเข้ามาในสภา ความเห็นของนักศึกษาก็มีความชอบธรรม ถ้ารัฐเป็นเผด็จการและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ก็สมควรไล่ สิ่งที่คนไทยบางคนคิดไม่ถึงว่ามีมาตรา 112 มาด้วย ก็มีเสียงจากหลายฝ่าย ผมคิดว่าในฝ่ายหนึ่งที่หัวเด็ดตีนขาดว่าไม่ให้แก้ หรือต้องเพิ่มโทษให้หนักขึ้นมันใช้ไม่ได้ แต่ไปฟังเหตุผลของกลุ่มที่อยากแก้ ทั้งในเรื่องการกลั่นแกล้ง ความรุนแรง ผมคิดว่าใช้ได้ อยากจะให้แก้ ผมไม่พอใจที่กลั่นแกล้งกัน”

นานาพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

หลังออกจากราชการและมีเวลาศึกษาการเมืองมากขึ้น วรัญชัยได้ไปช่วยเหลือนักการเมืองและพรรคการเมืองหาเสียง “อันดับแรกผมต้องเลือกพรรคที่เป็นประชาธิปไตย” วรัญชัยย้ำประโยคเดิม และเล่าถึงวิธีการเลือกสังกัดพรรค โดยการลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในนามพรรคสหประชาธิปไตย โดยคุณบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค  

“คุณบุญเท่งแกเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แกต่อต้านเผด็จการ ตรงข้ามกับคุณเปรมด้วยในตอนนั้น ผมไม่ชอบนายกที่มาจากการยึดอำนาจหรือถูกแต่งตั้งมา เพราะได้เห็นการที่นักศึกษานองเลือดแล้วมีการแต่งตั้งคุณสัญญา ธรรมศักดิ์ คุณเสรี คุณคึกฤทธิ์ก็อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยแต่ถูกคุณสงัด ชลออยู่ยึดอำนาจ คราวนี้ก็ยาวเลย จนถึงคุณเปรม ถึงได้มาเลือกตั้งปี 2529” วรัญชัยกล่าว

นับตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งล่าสุด รวมแล้วเขาสมัครส.ส.ทั้งหมด 7 ครั้ง ผู้ว่าฯ 7 ครั้ง และส.ว. 2 ครั้ง ในกรุงเทพฯ เคยลงมาตั้งแต่เขตพญาไท เขตหนองจอก เขตดุสิต เขตพระนคร ตามด้วยจังหวัดอุบลราชธานีครั้งหนึ่ง เมื่อเขากลับไปลงสมัครที่บ้านที่เคยอยู่ กับพรรคเอกภาพ ของอุทัย พิมพ์ใจชน ในปี 2535

เมื่อถามถึงความทรงจำจากการเลือกตั้งในอดีต วรัญชัย โชคชนะ เล่าว่า

ครั้งที่ได้คะแนนมากที่สุดคือตอนลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2531 ได้ 13,143 คะแนน ตอนนั้นดังมาก เพราะว่าทีวีออกชื่อออกภาพผู้สมัคร เผอิญผมได้เบอร์ 1 พอมีข่าวตอนเย็นก็จะรายงานชื่อผู้สมัครคือชื่อผมเป็นคนแรก ก็เลยพลอยดังไปด้วย 

ผมยอมรับว่าหนักใจ แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้หรือไม่ได้หรอก ก็ถ้ามีช่องทางลงได้ก็ลงไป และส่วนใหญ่ก็มีคนสนับสนุน” 

ในรายละเอียดของคำว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” วรัญชัยได้เล่าให้ฟังเป็นลำดับว่าเขามีเกณฑ์คัดเลือกพรรคที่จะเข้าสังกัดอย่างไรในการเลือกตั้งรอบล่าสุด “ยกตัวอย่างถ้าเป็นสมัยนี้ จะให้ผมไปลงพรรคพลังประชารัฐมันก็ขัดใจผมแหละ ถ้าจะให้ไปลงพรรครวมไทยสร้างชาติมันก็ขัดกับความรู้สึก คิดว่าคงไปกันไม่ได้ พรรคที่เคยร่วมหนุนรัฐบาลประยุทธ์ปีล่าสุด เช่น ภูมิใจไทย มันก็ขัดกับความรู้สึกผม ก็เลยหันมาทางพรรคเพื่อไทย แต่ก็เต็ม เพราะเป็นพรรคใหญ่ พรรคก้าวไกลก็เป็นพรรคหนุ่มสาว เราคิดว่าไม่ไหว ก็เลยไปได้พรรคเพื่อชาติโดยบังเอิญ ซึ่งครั้งที่แล้วเขาก็ได้ส.ส.อยู่ 5 คน แล้วผมก็ได้ไปรู้จักกับยงยุทธ ติยะไพรัช เขาเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค มีลูกสาวเป็นหัวหน้าพรรค ก็เลยได้ลงไป และทุนที่ใช้ในการหาเสียงส่วนใหญ่ใช้เงินของพรรค เช่น เขาทำป้ายให้บ้าง อาศัยช่องทางการปราศรัยในที่ชุมชนบ้าง ตามตัวเมืองบ้าง มีโทรโข่งคู่กาย มีป้ายสำหรับเดินโชว์บ้าง”

ความหวังอาจไม่เหมือนกัน แต่ขอให้ต้านเผด็จการเหมือนกัน

การลงสมัครเลือกตั้งในแต่ละครั้ง วรัญชัย โชคชนะ ไม่เคยได้รับคะแนนเสียงมากพอได้นั่งเก้าอี้ แต่เขาก็ยังคงเดินหน้าลงสมัครต่อไป จนถึงครั้งนี้ ในปี 2566 จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าทำไมถึงยังคงลงสมัคร วรัญชัยกล่าวว่าเหตุผลแรก เพราะมีผู้สนับสนุนให้ลงเลือกตั้งต่อไป เหตุผลที่สองคืออยากแสดงวิสัยทัศน์ อยากแสดงความเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไร ควรแก้ไขแบบไหน และก็ยังเห็นว่าตนเองยังมีกำลังทำได้อยู่

เมื่อถามถึงความหวังจากการเลือกตั้งปี 2566 วรัญชัยมองว่าผลการเลือกตั้งสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน “ถ้าเขาต้องการให้คุณประยุทธ์อยู่ต่อเขาก็แค่เลือกเข้ามา แต่ปรากฎว่าเขาทุ่มคะแนนให้เพื่อไทย และก้าวไกล หรือพรรคอื่นๆที่เขาอยากเลือก ก็เห็นชัดเจน เป็นความหวังอย่างหนึ่ง แต่ถามว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะมั้ย คิดว่าเผด็จการก็รอจ้องให้ประชาชนล้มเหลว และส.ว.ก็คือกลุ่มคนที่ถูกวางระบบมาดีแล้ว”

เนื่องจากวรัญชัยเคยลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วหลายครั้ง จึงคุยกันถึงความหวังที่จะเห็นกรุงเทพเปลี่ยนแปลง และมีนโยบายใดบ้างที่ตั้งใจทำเมื่อได้เป็นผู้ว่าราชการ “ผมเคยรับราชการที่กรุงเทพมหานครมาสิบปี และสมัครผู้ว่ามาหลายครั้ง ผมเลยมีประสบการณ์ ผู้สมัครหรือผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าหลายคนก็จะรู้จักกัน ผมอยากจะเห็นการบริหารคน บริหารเมือง มีกรุงเทพที่ทันต่อเมืองต่างๆของโลก บริหารคนคือไม่อยากเห็นคนยากคนจนตามสถานที่เสื่อมโทรม รวมถึงคนเร่ร่อน คนที่ต้องขอทาน ทุกวันนี้ดูตามสะพานลอยหรือฟุตบาทยังมี ตามราชดำเนินก็ยังมี เราก็อยากช่วยคนเหล่านี้ด้วย แต่ละเขตก็ต้องมองเห็นปัญหาที่คนในเขตพบเจออยู่ ผมอยากเห็นบ้านเมืองสะอาด สวยงามและทันสมัย รวมทั้งถนนหนทางราบเรียบ ทุกวันนี้ไปที่ไหนก็เจอแต่ขุดถนน ขุดเสร็จก็เอาแท่งปูนมาอัดไว้ รถก็วิ่งไม่สะดวก น้ำในคลองต้องสะอาด ขยะต้องทิ้งเป็นที่เรียบร้อย กรุงเทพที่จริงๆเป็นเมืองหลวงที่ดี มีคนรู้จักไปทั่วโลกอยู่แล้ว ต้องทำให้ดียิ่งขึ้น ทั้งเรื่องความก้าวหน้าและเรื่องการคมนาคม” เขากล่าว

ก่อนจบการสนทนา วรัญชัย โชคชนะ กล่าวทิ้งท้ายเรื่องการลงสมัครเลือกตั้งไว้ว่า “เนื่องจากผมลงหลายครั้งและอายุมากแล้ว เลยขอสมัครครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ตัวเองไม่สามารถแนะนำหรือให้ความเห็นในฐานะคนรุ่นเก่าหรือคนที่เคยผ่านการเลือกตั้งหลายครั้งได้ เพราะผู้ที่อยากลงเลือกตั้งแต่ละคนมีความชอบและทัศนคติไม่เหมือนกัน อาจจะทำให้มีความหวังไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออยากให้คนที่มาลงสมัครเลือกตั้งในทุกครั้งมีแนวคิดที่จะต่อต้านเผด็จการและสนับสนุนประชาธิปไตยต่อไป”

ชีวิต “วรัญชัย” นอกเวทีการเมือง

“ผมชื่อนายวรัญชัย โชคชนะ ผมเป็นคนพื้นเพอีสาน เกิดที่จังหวัดมหาสารคาม และมาเรียนหนังสือเริ่มต้นชั้นประถมที่จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอที่ผมเรียนตอนนี้ก็กลายเป็นจังหวัดไปหมดแล้ว เช่น อำนาจเจริญ อำเภอเลิงนกทาก็ไปขึ้นตรงต่อจังหวัดยโสธร ซึ่งตอนนั้นทั้งยโสธร ทั้งเลิงนกทายังเป็นอำเภอ ขึ้นตรงต่ออุบลหมด ผมเกิดอำเภอวาปีปทุมจังหวัดมหาสารคาม คุณพ่อเป็นข้าราชการ และพาผมย้ายไปด้วย เคยเรียนที่อำเภอม่วงสามสิบบ้าง อำเภออำนาจเจริญบ้าง อำเภอเลิงนกทาบ้าง ก็คือย้ายตามพ่อ มาจนชั้นประถมปีที่ 7 ที่เรียนโรงเรียนในตัวจังหวัด ชื่อร.ร.อุบลวิทยาคม เกิดปี 2495 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม”

“ผมเกิดปี 2495 ก็จริง แต่ได้มาอยู่ที่อุบลคือปี 2500 สมัยจอมพลสฤษดิ์ อ.เลิงนกทา ผมมาเรียนชั้นมศ.ที่โรงเรียนประจำจังหวัด ชื่อโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช อุบลราชธานี เรียนแค่ปีเดียวก็มาต่อที่ร.ร.วัดบวรนิเวศน์ บางลำภู จนจบ มศ.3 แล้วหาสอบเทียบ ได้มาเรียนปริญญาที่สถาบันราชภัฏพระนคร จนได้บรรจุครูมา”

“เคยเป็นครูสอนประถม เป็นครูประจำชั้น สอนได้ทุกวิชา พละศึกษาก็สอน ตอนที่อยู่โรงเรียนเอกชนก็สอนวิชาทั่วไปของชั้นมัธยม ตอนเริ่มรับราชการปี 2519 คือจุดที่ผมเริ่มสนใจการเมือง และช่วงหนึ่งโดนย้ายเพราะรัฐไม่อยากให้ออกมาเคลื่อนไหว ผมทนทำงานอยู่หนึ่งปี ให้ครบกำหนดเวลาสิบปีเพื่อรับบำเหน็จ และ จนปี 2529 เงินเดือนข้าราชการครูตอนนั้นน้อยมาก ประมาณ 4,300 บาท เราได้บำเหน็จสิบเท่าก็คือ 43,000 บาท”

“พอออกมาผมก็ไม่ได้ทำอะไร ได้แต่ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเมือง ไปช่วยเหลือนักการเมืองและพรรคการเมืองในเวลามีการปราศรัยหรือหาเสียง 

รายได้ในตอนนั้นก็พอใช้ แต่ก็ทำให้เสียดายอาชีพข้าราชการที่เป็นรายได้หลัก ภรรยาผมทำงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และมีลูกหนึ่งคน เกิดปี 2523 และถูกรถชนเสียชีวิตในปี 2537 ต่อมามีลูกอีกคน อายุ 24 แล้ว แต่ไม่มีปัญหาภายในครอบครัวเพราะเขาเข้าใจเรา เขามองว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เป็นเรื่องธรรมดา และเราก็พยายามไม่ทำให้ทางบ้านลำบากเดือดร้อนจากหมายเรียกหรือเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน”

บทความนี้ร่วมกันผลิตระหว่างพิพิธภัณฑ์สามัญชนและมูลนิธิสิทธิอิสรา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Dissident Dreams ได้รับการสนับสนุนโดย Democracy Discourse Series มหาวิทยาลัยเดอลาซาล ประเทศฟิลิปปินส์