วรกมล องค์วานิชย์ เขียน
กลุ่มทำทางเป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวที่ขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับการทำแท้งเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2553 จากเหตุการณ์ที่พบตัวอ่อนทารกหลักพันที่ถูกทิ้งจากการทำแท้งผิดกฎหมายที่วัดไผ่เงิน ทำให้เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิการทำแท้งปลอดภัยในประเทศไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การผลักดันให้แก้ไขกฎหมาย การจัดกิจกรรมเนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยสากล 28 กันยายนของทุกปี รวมถึงให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องการทำแท้งให้เข้ารับบริการได้อย่างปลอดภัย โดยทำงานร่วมกับกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิสตรีทั้งในไทยและต่างประเทศด้วย
กลุ่มทำทางพยายามผลักดันและให้ข้อมูลเรื่องทำแท้งปลอดภัย ตั้งแต่ในวันที่ประเด็นเรื่องการทำแท้งยังเป็นประเด็นอ่อนไหวในเชิงศีลธรรมสำหรับประเทศไทย จนในปัจจุบันได้มีแก้ไขกฎหมายให้สามารถทำแท้งอย่างถูกกฎหมายได้ในทุกอายุครรภ์ (ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ) และยังคงทำงานต่อเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการทำแท้งในฐานะสิทธิสุขภาพอย่างปราศจากอคติหรือการถูกตีตรา
ในวันที่ 2 เมษายน 2566 พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้จัดวงเสวนา “Resist for Better Way of Life” การเคลื่อนไหวเพื่อวิถีชีวิตที่ดีกว่าเดิม และเชิญตัวแทนของกลุ่มทำทางและสหภาพคนทำงานมาร่วมพูดคุย โดยคุณตุ๊กตา ตัวแทนของกลุ่มทำทาง กล่าวถึงความสำคัญของการยุติการตั้งครรภ์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลังวงเสวนาจบลง ได้มีการพูดคุยสัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาที่ไปและประเด็นการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องทำแท้งโดยเฉพาะ แยกจากประเด็นหลักของงานเสวนาในครั้งนั้น เป็นการพูดคุยทั้งเรื่องราวทั่วไป และเจาะลึกประเด็นการเคลื่อนไหว โดยเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์สามัญชนและทีมงานของกลุ่มทำทางทั้ง
ตุ๊กตา ฝ่ายให้คำปรึกษา ที่ดูแลทั้งการให้คำปรึกษาเรื่องคุมกำเนิด การตรวจครรภ์ การอัลตราซาวด์และนับอายุครรภ์ การหาสถานที่ทำแท้งและประสานหมอ รวมถึงดูแลจิตใจหลังทำแท้ง
นุ่ม ฝ่ายรณรงค์ขององค์กร ทำหน้าที่มอนิเตอร์ประเด็นสังคม หาช่องว่างในการสื่อสารเรื่องทำแท้งให้สังคมเข้าใจ รวมถึงดูแลเรื่องการสื่อสารข้อมูล เช่น บทความ
ชมพู่ ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงาน ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมองค์กร เช่น การขอทุน ควบคุมการทำงานในภาพรวม และจัดการเคสซับซ้อนของฝ่ายให้คำปรึกษา เช่น เคสที่เป็นเยาวชน เคสที่มีการใช้ความรุนแรง
เนี้ยบ ผู้จัดการองค์กร ดำเนินกิจกรรมองค์กรหลัก ทำหน้าที่ติดตามงานแต่ละฝ่าย ประสานงานในองค์กรเพื่อให้งานออกมาสำเร็จ และช่วยประสานงานกับองค์กรและบุคคลภายนอก เช่น นักข่าว
นอกจากนี้องค์กรทำทางยังมีนักรณรงค์ ผู้ให้คำปรึกษา และผู้สื่อสารองค์กรที่ไม่ได้มาร่วมให้สัมภาษณ์ในงานเสวนาครั้งนี้
เพราะเนื้อตัวร่างกายคือการเมือง
เราเริ่มบทสนทนาด้วยประเด็นสิทธิในการปกป้องร่างกายของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องการเมือง กลุ่มทำทางกล่าวว่าการเมืองนั้นคือเรื่องอำนาจที่เราต้องตระหนัก ซึ่งอำนาจในการตัดสินใจต่อร่างกายของตนเองเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกันกับการเรียกร้องต่อเผด็จการหรือการแก้ไขกฏหมาย และการเรียกร้องอำนาจเหนือเนื้อตัวร่างกายก็ไม่จำกัดเฉพาะขบวนการเพื่อสิทธิของเพศหญิงเท่านั้น
กลุ่มทำทางให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าประเด็นการทำแท้งนั้นมีที่มาจากสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ความเป็นจริงแล้วการที่คนตั้งครรภ์จะได้ทำแท้งนั้นเป็นเกี่ยวข้องคนหลายกลุ่ม ตั้งแต่อำนาจการตัดสินใจภายในครอบครัวที่ผู้ตั้งครรภ์อาจไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจเอง ไปจนถึงประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหมอ-คนไข้ เช่น หมออาจไม่ยินยอมให้บริการแม้ว่าคนไข้จะยืนยันว่าต้องการทำแท้งก็ตาม แต่เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับผลกระทบทางตรง (หรือกล้าออกมาประกาศว่าฉันเองก็ได้รับผลกระทบ) หลายคนจึงยังมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่
เมื่อการทำแท้งเป็นการเมือง กฎหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เนี๊ยบและชมพู่ให้ข้อมูลด้านกฎหมายว่า ในปัจจุบันมีการแก้กฎหมายประเด็นยุติการตั้งครรภ์ใน ช่วงปลายปี 2563 และมีผลบังคับใช้ในปี 2564 ว่าอายุครรภ์ต่ำว่า 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้ในทุกกรณี โดยไม่จำเป็นต้องชี้แจงว่าเป็นการทำแท้งด้วยเงื่อนไขอะไร นอกจากนี้หากอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ก็ทำแท้งได้โดยต้องผ่านการกระบวนการให้คำปรึกษาทางเลือกก่อน ส่วนการทำแท้งด้วยเหตุทางการแพทย์และการถูกข่มขืนยังทำได้ตามเดิมโดยไม่จำกัดอายุครรภ์ จากกฎหมายเดิมที่ให้ทำแท้งได้เฉพาะสามกรณี คือ ถูกข่มขืน การตั้งครรภ์เป็นอันตรายกับตัวผู้ตั้งครรภ์ทั้งร่างกายและจิตใจ และตัวอ่อนพิการเท่านั้น
ถึงจะมีการแก้ไข กฎหมายนี้ก็ยังมีอุปสรรคสำหรับผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อม แม้จะทำได้ไม่มีโทษ แต่บุคลากรการแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วไปยังไม่ยอมให้บริการ เนื่องจากกังวลว่าการทำแท้งจะเป็นการ “ฆ่าเด็ก”
ชมพู่ให้ข้อมูลว่าเมื่อผู้ตั้งครรภ์มีอายุครรภ์ต่ำกว่า12 สัปดาห์ เช่น 6-7 สัปดาห์ เมื่อใช้ยายุติการตั้งครรภ์จะรู้สึกปวดท้องหน่วงเหมือนมีประจำเดือน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ร่างกายขับตัวอ่อนขนาดเล็กจิ๋วออกมาผ่านการเลียนแบบการคลอด ตัวอ่อนนั้นอาจมีขนาดเล็กมากจนต้องเก็บตัวอย่างเลือดไปส่องกล้องจุลทัศน์ถึงเห็นตัวอ่อน กระนั้นแพทย์บางส่วนก็ปฏิเสธการให้ยาเนื่องจากกังวลเรื่องบาปกรรมหรือผีเด็ก และถ้าอายุมากกว่า 12 สัปดาห์ คือเริ่มมีรูปร่างเป็นตัวอ่อน ก็จะยิ่งหาสถานบริการที่รับให้บริการยากขึ้น และในเรื่องนี้ยิ่งประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้น้อย ยิ่งหาสถานที่ให้บริการได้ช้า และยากในการตัดสินใจมากขึ้นไปอีก
อันตรายของการทำแท้งไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นมายาคติ
เมื่อพูดคุยถึงประเด็น “ทำแท้งเป็นการฆ่าเด็กหรือไม่” กลุ่มทำทางให้ข้อมูลว่าตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์นั้นไม่สามารถมีชีวิตได้ด้วยตัวเองหากปราศจากผู้ตั้งครรภ์ รวมถึงยังไม่มีอวัยวะหรือระบบประสาทที่สามารถรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดได้ จึงยังไม่ถือว่ามีชีวิต นอกจากนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลยังนับ “สิทธิที่จะมีชีวิต” ของบุคคลเมื่อคลอดออกมาแล้วเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิตัวอ่อนอยู่จริง
ซึ่งกลุ่มทำทางกล่าวว่า อำนาจในการตัดสินใจในการทำแท้งหรือมีลูกคือสิทธิของเจ้าของร่างกาย แต่ในทางปฏิบัติปัจจุบันยังต้องให้คนอื่นตัดสินใจให้เรา เพราะกฎหมายในประเทศนี้บัญญัติไว้ว่าแพทย์เท่านั้นที่จะจ่ายยาทำแท้งได้ ซึ่งทางการแพทย์เองก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับทัศนคติและความเชื่อปิตาธิปไตยอยู่ ทำให้ยังมีผู้ถูกปฏิเสธการให้บริการจำนวนมาก
ตุ๊กตา สมาชิกกลุ่มที่เคยมีประสบการณ์ในการทำแท้งกล่าวว่า “ตัวเราถูกกดมาก ร่างกายเรายังต้องให้คนอื่นตัดสินใจ ต้องใช้อำนาจของคนที่มีความรู้มากกว่ามาจัดการแทน เราจึงจำเป็นต้องสู้กลับว่าประสบการณ์ของเราก็เป็นความรู้อีกชุดหนึ่งเช่นกัน เราคิดว่าหมอไม่ให้ทำแท้งเพราะหมอไม่ได้ทำงานบนจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่คิดว่ามันคือศีลธรรม ทั้งๆ ที่มันเป็นคนละเรื่องกัน ศีลธรรมแบบนี้คือการช่วยคนช่วยชีวิต ทำให้หมอไปโฟกัสตัวอ่อนที่อยู่ในท้องแต่ไม่เห็นความสำคัญของชีวิตผู้ตั้งครรภ์ หลายครั้งในบางประเทศที่ยอมปล่อยให้แม่ตายเพราะไม่กล้าทำแท้ง ไม่กล้าฆ่าเด็ก เพราะหมอไปโฟกัสเรื่องช่วยชีวิต แต่ละเลยเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายของคนที่ยังต้องใช้ชีวิตต่อ”
ตุ๊กตาได้ให้ข้อมูลถึงกรณีต่างประเทศก็มีหมอที่ปฏิเสธไม่ให้บริการทำแท้งกับผู้ตั้งครรภ์ที่มีร่างกายไม่แข็งแรงและไม่พร้อมมีบุตร เช่น ครรภ์เป็นพิษ หรือตัวอ่อนพิการร้ายแรง ทำให้หลายคนไม่สามารถหาบริการที่ปลอดภัยได้จึงหันไปใช้บริการที่ไม่ปลอดภัยด้วยการหายามากินเอง หรือใช้อุปกรณ์ทำแท้งเองจนเกิดอาการแทรกซ้อนจนติดเชื้อถึงแก่ชีวิต แสดงว่าการไม่ให้ทำแท้งปลอดภัยไม่เท่ากับการไม่ทำแท้ง แต่ยิ่งเป็นส่งเสริมให้คนหันไปหาการทำแท้งที่เป็นอันตรายแทน
คนตั้งครรภ์ทุกคนไม่ได้พร้อมเป็นแม่ การทำแท้งจึงควรเป็นทางเลือก
กลุ่มทำทางตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลสถิติของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ระบุว่ามีผู้ขอรับบริการขอรับบริการยุติการตั้งครรภ์ทั้งหมด 14 คน ได้ยุติจริง 1 คน และเลือกตั้งครรภ์ต่อ 13 คน ซึ่งกลุ่มทำทางมีความเห็นว่า ข้อมูลตัวเลขนี้อาจเกิดจากบุคลากรทางการแพทย์โน้มน้าวจนผู้รับบริการเปลี่ยนใจ สอดคล้องกับที่เคยมีหมอท่านหนึ่งโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวเล่ากรณีคล้ายกันอย่างภูมิใจ เหมือนว่าเขา “ช่วย” ให้ผู้ตั้งครรภ์ได้ค้นพบความสุขของการเป็นแม่
ตุ๊กตากล่าวว่า “ในความเป็นจริงการตั้งครรภ์มันคือการเสี่ยงโชคนะ ว่าถ้าคลอดมาแล้วจะมีความสุขกับการเป็นแม่หรือไม่ มีแม่หลายคนประสบปัญหาโรคซึมเศร้าหลังคลอด ไม่ต้องการเลี้ยงลูกหรืออยากฆ่าลูกตัวเอง ด้วยสาเหตุที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน แต่เป็นเรื่องภาระในการดูแลเด็ก
การเป็นแม่ไม่ง่าย แม่ต้องให้นมลูกทุกสามชั่วโมง ซึ่งเป็นภาระ เหมือนร่างกายของคนถูกแปลงให้กลายเป็นเครื่องผลิตอาหารให้เด็ก ถ้าไม่มีนมให้ก็เกิดความเครียด กลัวลูกไม่มีอะไรกิน สภาพเศรษฐกิจไม่ดี นมผงแพง ถ้าลูกเป็นภูมิแพ้ก็โทษว่าไม่ได้กินนมแม่ แม่หลายคนก็โทษตัวเองว่าไม่มีกำลังมากพอที่จะเลี้ยงลูก”
ในด้านการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ตุ๊กตาเล่าว่า “เมื่อคลอดไปแล้วท้องไม่ได้ยุบทันที ร่างกายยังไม่เข้าที่ดี จิ๋มไม่อยู่ในรูปแบบที่คุ้นเคย หัวนมเปลี่ยนไป แม่หลายคนต้องพร้อมยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีลูก ซึ่งสิ่งที่กล่าวไปมันจำเป็นต้องเกิดขึ้นกับคนที่พร้อม หรือเต็มใจที่จะผ่านไป เพราะมันยาก ดังนั้นการต่อต้านการทำแท้งด้วยกรอบคุณธรรม คุณไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่าใครเป็นแม่ และทำไมทำไมต้องเป็นแม่ เรามองว่าสังคมไม่ยุติธรรมที่โยนภาระให้ผู้หญิงตั้งครรภ์รับผิดชอบทั้งชีวิตตนเองและลูก”
กลุ่มทำทางยกตัวอย่างว่ามีผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมหลายรายที่ “มีชีวิตที่มีสุข” ได้โดยไม่ต้องเป็นแม่หลังเข้ารับบริการทำแท้งเช่นกัน เช่น สามารถเรียนจบได้ พ้นจากความยากจน ไม่ต้องเป็นเมียน้อยหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ฯลฯ
ตุ๊กตากล่าวเสริมว่า “ถ้าถูกบังคับให้ไปทางนั้น เราตายแน่นอน ในบางครั้งการท้องไม่พร้อมทำให้ถูกตัดขาดจากครอบครัว ด้วยทัศนคติที่มองผู้หญิงว่าการมีลูกสาวก็เหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้านแล้ว ซึ่งถ้าลูกผู้หญิงท้องก่อนแต่งงานหรือท้องไม่มีพ่อยิ่งเหมือนส้วมแตกอยู่หน้าบ้าน จะเป็นเรื่องร้ายแรงมากสำหรับบางครอบครัว ทำให้เรากล้าพูดเต็มปากเลยว่าทำแท้งแล้วชีวิตดีกว่า”
สารจากกลุ่มทำทางถึงผู้กำหนดนโยบายด้านการแพทย์
ภายหลังมีการแก้ไขกฎหมาย กลุ่มทำทางพยายามสื่อสารกับบุคลากรการแพทย์ว่าการทำแท้งคือการรักษา และเป็นหัตถการที่จำเป็นไม่ต่างกับผ่าตัด หรือทำฟัน และหากบุคลากรการแพทย์ไม่พร้อมให้บริการอย่างน้อยก็ควรส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่นโดยเร็วที่สุด
กลุ่มทำทางเสนอว่าแพทย์จะต้องตระหนักในเรื่องสิทธิของคนไข้และจรรยาบรรณวิชาชีพของตัวเอง ไม่โน้มน้าวผู้รับบริการไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ ไม่ปิดกั้นทางเลือกของคนที่ท้องไม่พร้อม โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขวิชาชีพเช่น ตรวจเบื้องต้น ตอบคำถาม ให้คำปรึกษา และส่งตัวผู้เข้ารับบริการต่ออย่างรวดเร็วในกรณีที่ไม่สามารถให้บริการเองได้
กลุ่มทำทางมองว่าไม่ควรมีกฎหมายเอาผิดเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ เพราะเมื่อมองในเงื่อนไขเดียวกันการคลอดก็ไม่ได้มีกฎหมายเอาผิด แต่มีกฎหมายควบคุมแพทย์ให้ปฏิบัติตามขั้นตอน เพื่อให้มีการบริการที่ได้มาตรฐาน การยุติการตั้งครรภ์ก็เช่นกันคือไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะแต่ต้องมีการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย
ตุ๊กตากล่าวต่อว่าบางโรงพยาบาล จะมีการให้ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์มาโน้มน้าวให้ผู้รับบริการได้ทบทวนชีวิตอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับผู้พร้อมมีบุตร แต่การใช้ความเป็นแม่โน้มน้าวให้ผู้ที่ไม่พร้อมมีบุตรตั้งครรภ์ต่อนั้นแสดงให้เห็นว่าผู้โน้มน้าวไม่คำนึงถึงว่าการมีลูกไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ได้มีความสุขเสมอไป การมีลูกเป็นความเสี่ยงระยะยาว และเป็นการสร้างภาระในผู้ที่ไม่พร้อมมากกว่าสร้างชีวิตที่ดีขึ้น
ทำแท้ง เรื่องราวของผู้หญิงยังมีอีกหลายด้าน
ในนิทรรศการวัตถุพยานแห่งการต่อต้าน กลุ่มทำทางเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเสื้อสีขาวพิมพ์อักษรสีชมพู เป็นประโยคที่กล่าวว่า “ทำแท้ง เรื่องราวของผู้หญิงมีอีกหลายด้าน”
โดยชมพู่เล่าว่าเสื้อตัวนี้เป็นการเคลื่อนไหวในปี 2555-2556 เป็นกิจกรรมที่ผู้เคยผ่านการทำแท้งถ่ายรูปตนเองกับสัญลักษณ์ของประเทศนั้นๆ และส่งรูปไปรวมกันเพื่อรณรงค์ร่วมกันทั่วโลก โดยในประเทศไทยมีองค์กร เช่น โรงน้ำชา และ BACC ช่วยกันจัดกิจกรรมกลุ่มทำทางจึงจัดทำเสื้อตัวนี้ขึ้นมาเพื่อรณรงค์ว่าเรื่องราวของผู้หญิงนั้นมี หลายด้าน ผู้หญิงที่เลือกจะไม่เป็นแม่ก็เป็นด้านหนึ่งในนั้น อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มเลือกใช้ภาษาไทยอยู่ด้านหน้า และภาษาอื่นอยู่ด้านหลัง เพราะในช่วงนั้นถ้าเขียนคำไว้ด้านหลังกลัวคนที่เห็นเราและไม่สบายใจ ชมพู่อธิบายว่าในสถานการณ์เมื่อสิบปีที่ผ่านมาการทำแท้งยังถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรมอย่างมาก หลายครั้งที่ใส่เสื้อตัวนี้มีนักท่องเที่ยวคนไทยมาชี้เสื้อ ซุบซิบกัน
ตุ๊กตากล้าวเสริมว่า “จริงๆ ชอบประโยค “เรื่องราวของผู้หญิงมีหลายด้าน” เพราะกำลังจะสื่อว่า การทำแท้งไม่ใช่แค่ความคิดคับแคบที่คุณรู้จัก มันยังมีอีกหลายแง่มุมว่าทำไมคนถึงทำแท้ง เช่น เรื่องสิทธิ ไม่ใช่มุมศีลธรรมเท่านั้น ในบางครั้งการที่ผู้หญิงทำแท้งถูกตำหนิเป็นเพราะสังคมไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการทำแท้ง”
นอกจากนั้นยังมีเสื้อสัญลักษณ์ #weToo เป็นรูปวาดของผู้หญิงหลายคนถอดเสื้อกอดกัน มีคนสักเลข 301 ทับด้วยเครื่องหมายกากบาท และระบุข้อความ abortion ที่แปลว่าการทำแท้ง (เลข 301 หมายถึงกฎหมายอาญามาตรา 301 ของไทยซึ่งกำหนดโทษการทำแท้ง) และ #weLoveYou เป็นการสื่อว่าผู้หญิงหลายคนเคยก็เคยผ่านการทำแท้ง และพวกเราจะอยู่เคียงข้างกัน
เสื้อตัวนี้ทำออกมาตอนช่วงที่กลุ่มทำทางกำลังยื่นเรื่องแก้ไขกฏหมายปี 2562 เนื่องจากในปี 2561 มีกรณีหมอศรีสมัย เชื้อชาติ ถูกดำเนินคดีเนื่องจากให้บริการการยุติการตั้งครรภ์ เพราะมีคนเก็บขยะไปเจอซากตัวอ่อนและสื่อได้เสนอข่าวในเชิงหดหู่ สยดสยองว่า “ทำแท้งกลางเมืองหัวหิน” เครือข่าย RSA (Referral system for safe abortion) ซึ่งเป็นเครือข่ายแพทย์ที่ให้บริการทำแท้งในประเทศไทย รวมถึงเครือข่าย Choices และกลุ่มทำทาง ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนจึงลุกขึ้นมาปกป้องบุคลากรที่ให้บริการ โดยตั้งใจทำเสื้อขึ้นมาเพื่อสื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ต้องการสิทธิทำแท้ง “ฉันก็ด้วย เธอก็ด้วย ไม่ใช่แค่หมอคนเดียว” เพื่อยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่เคยทำแท้งและบุคลากรการแพทย์ที่ต่อสู้เรื่องการยุติการตั้งครรภ์
และกลุ่มทำทางยังมีป้ายรณรงค์ที่เขียนว่า “ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งก็ไม่ต้องทำจ้า แต่อย่าไปยุ่งกับการตัดสินใจของคนอื่น!” เนี๊ยบเล่าว่าเป็นข้อความที่แปลมาจากป้ายรณรงค์เรื่องการทำแท้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นข้อความสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาถึงสิทธิ์ในการทำแท้งว่าเป็นสิทธิ์ของผู้ตั้งครรภ์ เมื่อป้ายนี้ถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ค ทำให้มีการเผยแพร่และนำภาพไปใช้รณรงค์ต่อ
“ผีเด็ก” ผลผลิตซ้ำภาพจำของการทำแท้ง
กลุ่มทำทางยังได้ทำป้ายผ้า “ผีเด็ก” ที่ใช้ในนิทรรศการ Spirits of the Marginalized จากจิตวิญญาณแห่งความชายขอบ ซึ่งมีที่มาจากการสำรวจภาพของผีเด็กในเรื่องเล่าและการตีความของคนทำแท้ง เพื่อตั้งคำถามต่อสังคมว่าเหตุใดการทำแท้งถึงกลายเป็นภาพจำที่น่ากลัว และสิ่งใดที่ทำให้ผู้ทำแท้งต้องถูกอาฆาตหรือผูกพันธ์กับวิญญาณ และต่อยอดไปถึงการยกประเด็นบทลงโทษทางสังคมของผู้มีมดลูกแต่ไม่พร้อมเป็น “แม่”
ในนิทรรศการนี้ ตัวละครผีที่น่าสนใจคือ “ผีสาวไอซ์” จากภาพยนตร์เรื่อง ฝากไว้..ในกายเธอ ซึ่งไอซ์ถูกนำเสนอว่าเป็นวัยรุ่นสาว ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และต้องทรมานจนตายจากการทำแท้งแบบไม่ปลอดภัย ทำให้หลังจากนั้นไอซ์กลายเป็นผีสาวที่วนเวียนในสถานที่เดิม ด้วยความเจ็บปวดและแรงอาฆาต พ่วงกับภาพจำที่สังคมได้ฝากไว้ในใจผู้ชม ทั้งการท้องในวัยเรียน รัฐสวัสดิการที่ไม่พร้อมสำหรับการทำแท้งถูกกฎหมาย ไปจนถึงภาพจำที่มองว่าคนท้องต้องมีความเป็นแม่ตั้งแต่ตรวจพบว่ามีตัวอ่อนในครรภ์
ถัดจากหน้าต่างข้างกันจะพบป้ายผ้าสีขาวขนาดใหญ่ในหัวข้อ “ผีเด็ก” ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับภาพจำที่คนมีต่อการทำแท้งว่าเป็นการฆ่าเด็กทารกคนหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตัวอ่อนในครรภ์นั้นยังไม่ถูกนับว่าเป็นมนุษย์ แต่ในสังคมปัจจุบันผลักดันให้การทำแท้งเป็นความผิดของผู้ตั้งครรภ์ ทั้งในด้านกฎหมาย ด้านสิทธิ ไปจนถึงผลักภาระความรู้สึกผิดให้ ทั้งการมองว่าเป็น “แม่ใจยักษ์”, “ฆาตกรฆ่าเด็ก” ไปจนถึงกดดันบุคลากรการแพทย์ที่สนับสนุนการทำแท้งผิดกฎหมายอีกด้วย ซึ่งในหลายครั้ง การเสนอภาพเหล่านี้มีอยู่ในสื่อเช่นกัน ทั้งละครและภาพยนต์มักนำเสนอวิญญาณเด็กที่มาล้างแค้น หรือติดตามคนทำแท้งในรูปแบบเสียงหัวเราะ เสียงร้องไห้ หรือภาพของเด็กเล็ก ซึ่งกลุ่ม @ทำทาง ต้องการนำเสนอประเด็นนี้ว่าเป็นการลงโทษทางสังคมและยัดเยียดความเป็นแม่ ในทางการแพทย์พบว่า ตัวอ่อนอายุครรภ์ 2 เดือน มีขนาด 2-3 เซนติเมตรเท่านั้น และในป้ายผ้านี้ยังเล่าเรื่องราวผีเด็กในมุมมองของคนทำแท้ง ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งการกลับมาเกิดเป็นน้องแมว การรู้สึกว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว รวมถึงคนทำแท้งที่รอว่าจะได้พบกันอีกครั้ง ไปจนถึงคนที่ไม่เชื่อว่าผีเด็กมีจริง
อย่างไรก็ตาม ผีเด็กจะมีจริงหรือไม่ หรือจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรนั้น “ขอให้เจ้าของประสบการณ์เป็นคนตีความเรื่องราวของเขาเอง” (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://commonmuze.com/node/515)
การขับเคลื่อนของทำทางในช่องทางออนไลน์
กลุ่มทำทางกล่าวว่าที่ผ่านมาขับเคลื่อนประเด็นผ่านช่องทางออนไลน์มาตลอด ช่วงหลังกลุ่มทำทางทำงานผ่านแอปพลิเคชันทวิตเตอร์และได้รับผลตอบรับที่ดี
ชมพู่กล่าวว่าในปัจจุบันช่องทางที่มีการตอบรับดีคือทวิตเตอร์ เนื่องจาก “ผู้ใช้ทวิตเตอร์เป็นคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว และมีแนวโน้มที่พร้อมจะเข้าใจประเด็นของเรามากที่สุด ทวิตเตอร์เหมือนพื้นที่ที่เปิดให้เล่าเรื่องเพศ เช่น ประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ เรื่องทำแท้ง ความหลากหลายทางเพศ เรื่องผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเรื่อง sex workers ซึ่งทุกเรื่องมีคนที่ออกมาพูดถึงอยู่ตลอด มีการเรียกร้องเรื่อง gender ทุกปี มีการทำงานเรื่องเพศในโซเชียลเป็นปกติมาก เป็นเพราะปัจจุบันมีแพลตฟอร์มให้คนออกมาพูดมากขึ้น ทำให้คนสนใจมากขึ้น”
นอกจากการให้คำปรึกษาเรื่องการทำแท้งปลอดภัยแล้ว กลุ่มทำทางยังให้คำปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิดและจัดทำความรู้เกี่ยวกับสิทธิสตรีอีกด้วย สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ ทวิตเตอร์ @TamtangTH เพจเฟซบุ๊ก “คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง” หรือ “กลุ่มทำทาง” และ https://womenhelp.org/th/page/437/thailand-tamtang-group
บทความนี้ร่วมกันผลิตระหว่างพิพิธภัณฑ์สามัญชนและมูลนิธิสิทธิอิสรา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Dissident Dreams ได้รับการสนับสนุนโดย Democracy Discourse Series มหาวิทยาลัยเดอลาซาล ประเทศฟิลิปปินส์