เก็บตกวงเสวนา “จดหมายเหตุสามัญชน”

เผยแพร่ครั้งแรกทางพิพิธภัณฑ์สามัญชน

ถอดความและเรียบเรียงโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์

รายงานเพิ่มเติมโดย พีระ ส่องคืนอธรรม

จากซ้ายไปขวา: มุทิตา เชื้อชั่ง, อานนท์ ชวาลาวัณย์, นภัสสร บุญรีย์, ชาตรี ประกิตนนทการ, ไอดา อรุณวงศ์. ภาพ: Jeerapa Studio

26 มิถุนายน 2565 พิพิธภัณฑ์สามัญชนร่วมกับมูลนิธิสิทธิอิสรา จัดงานแถลงความร่วมมือและวงเสวนาจดหมายเหตุสามัญชนโดยวงเสวนานี้ทางพิพิธภัณฑ์มี ไอดา อรุณวงศ์ จาก มูลนิธิสิทธิอิสรา ชาตรี ประกิตนนทการ ผู้วิจัยประวัติศาสตร์และของสะสมยุคคณะราษฎร ‘ป้านก’ นภัสสร บุญรีย์ คนเสื้อแดงผู้บริจาคของสะสม และ ‘อานนท์ ชวาลาวัณย์’ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนร่วมสนทนาโดยมี มุทิตา เชื้อชั่งกรรมการมูลนิธิสิทธิอิสรา เป็นผู้ดำเนินรายการ

แรงบันดาลใจในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน

อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ที่เริ่มจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาสมัยเรียนเอกประวัติศาสตร์ในระดับปริญญาตรี วิชาที่เป็นวิชาบังคับเป็นวิชาประวัติศาสตร์ที่อยู่ห่างไกลจากยุคปัจจุบัน ขณะที่วิชาที่เป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและส่งผลกับปัจจุบันอย่างประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่ 2475 กลับเป็นเพียงวิชาเลือก ขณะที่ตำราเรียนที่ใช้เรียนในระดับมัธยมแม้จะพยายามฉายภาพกว้างของประวัติศาสตร์แต่ก็มักละเลยเหตุการณ์เคลื่อนไหวของภาคประชาชน

ขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหรือพิพิธภัณฑ์ของรัฐส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็เน้นการเล่าเรื่องราวจาก ‘บนลงล่าง’ ผ่านการจัดแเสดงศิลปวัตถุโบราณที่เคยถูกใช้ในพระราชวังของเหล่าพระมหากษัตริย์และกลุ่มคนชนชั้นสูงซึ่งแม้มีความวิจิตรประณีต แต่ก็ให้ความรู้สึกห่างไกลสำหรับคนธรรมดา นอกจากนั้นการเล่าเรื่องก็ยังขาดมิติทางการเมืองหรือการเคลื่อนไหวของสามัญชน การทำงานของพิพิธภัณฑ์สามัญชนจึงเป็นไปเพื่อเติมเต็มจิ๊กซอว์ส่วนที่หายไปเพื่อให้ได้ภาพประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการเก็บสะสมวัตถุสิ่งของที่เน้นการเล่าเรื่องราวจาก ‘ล่างขึ้นบน’ หรือการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์จากมุมมองของสามัญชน

ขอบเขตของเนื้อหาการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์สามัญชน

อานนท์ระบุว่าประเด็นหลักของพิพิธภัณฑ์สามัญชนจะเป็นการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในประเด็นทางการเมืองจากประสบการณ์และมุมมองของสามัญชน โดยเฉพาะเรื่องราวขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งคำว่าการเมืองในที่นี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเฉพาะเรื่องการเมืองเชิงโครงสร้างเท่านั้น หากยังรวมไปถึงขบวนการเคลื่อนไหวประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆด้วย โดยวัตถุสิ่งของที่จะนำมาจัดแสดงส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อที่ประชาชนที่เคยใช้สวมใส่ในกิจกรรมการชุมนุม รวมไปถึงป้ายผ้า และอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมการชุมนุมประท้วง

อานนท์กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้เห็นภาพการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น ทางพิพิธภัณฑ์ได้ทำการเก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของจากกลุ่มคนทุกฝ่ายที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน และให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องราวผ่านวัตถุสิ่งของในมุมมองของตัวเจ้าของวัตถุเอง ไม่ใช่ในมุมมองของพิพิธภัณฑ์ โดยพิพิธภัณฑ์มีฐานะเป็นเพียงพื้นที่หรือเป็นผู้ส่งสาร (Messenger) เท่านั้น

“การตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ ไม่ใช่เป็นการไปสู้กับรัฐ หากแต่เป็นเพียงการบอกเล่าข้อเท็จจริงบางชุดที่ยังไม่ถูกเล่า ส่วนเมื่อคนดูแล้วจะตัดสินใจอย่างไร ก็พ้นไปจากสิ่งที่เราทำ ”

ภาพ: Jeerapa Studio

หนึ่งใน “เบื้องหลัง” ของพิพิธภัณฑ์สามัญชน

นภัสสร บุญรีย์ หรือป้านก ผู้บริจาคของสะสมให้กับทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนระบุว่า สิ่งของที่เธอนำมามอบให้กับพิพิธภัณฑ์สามัญชน คือสิ่งของที่เธอเก็บสะสมมาจากการไปร่วมชุมนุมตั้งแต่สมัยการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มาจนถึงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนในยุคปัจจุบันล้วนเป็นสิ่งของที่หายาก และควรค่าแก่การเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์มากกว่าเก็บไว้กับตัวเธอเอง เพราะวัตถุสิ่งของเหล่านี้จะยังคงถูกเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นลูก รุ่นหลานได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป หากวันใดที่เธอไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว วัตถุสิ่งของเหล่านี้ก็จะได้ไม่กลายเป็นขยะไร้ค่า เธอจึงมีแรงบันดาลใจและมีจุดมุ่งหมายใหม่ในการไปร่วมชุมนุม คือการเก็บวัตถุสิ่งของในพื้นที่การชุมนุมเพื่อนำส่งต่อให้กับทางพิพิธภัณฑ์ไปเก็บรักษาต่อ เช่น เสื้อรณรงค์ที่ใช้ในการชุมนุม ซากกระสุน ลูกแก้ว สติ๊กเกอร์รณรงค์ เป็นต้น โดยเธอจะมีการบันทึกระบุรายละเอียดวันเดือนปีของวัตถุสิ่งของที่เก็บได้ในแต่ละครั้งที่ไปเข้าร่วมชุมนุมด้วย

ในตอนหนึ่งของการเสวนา ผู้ดำเนินรายการถามพิธีกรถ้าป้านกว่าตอนที่ป้านกเก็บปลอกแก๊สน้ำตาให้พิพิธภัณฑ์สามัญชนนี่คือเก็บตอนร้อนๆเลยใช่หรือไม่ ป้านกตอบว่า

“ก็คือว่าอุ๊ย เดี๋ยวคนอื่นมาเก็บไปก่อนใช่มั้ยฮะ (เสียงหัวเราะแทรก) แล้วเราก็…เอากระดาษน่ะไปเก็บมาร้อนๆ แล้วก็มาเก็บไว้ก่อน มานั่งพักไว้ก่อน พอเย็นแล้วเราก็ถึงเอาใส่ถุง (หัวเราะ) มันมีหลายแบบค่า”

ภาพ: Narumol Choochan

ประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาที่ไม่ค่อยถูกจดบันทึก

ชาตรี ประกิตนนทการ ให้นิยามลักษณะของพิพิธภัณฑ์สามัญชนว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บสะสมเรื่องราวแนวประวัติศาสตร์สังคม (Social History) ซึ่งการเก็บของสะสมที่อยู่นอกเหนือไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักแบบที่พิพิธภัณฑ์ทำอยู่นี้มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นถึงหลักฐานสำคัญของเสียงที่ไม่ค่อยถูกได้ยิน หรือเสียงของคนธรรมดาสามัญที่หายไป

ชาตรีเล่าว่าหนึ่งในข้อจำกัดสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ภาคประชาชนในสังคมไทยเป็นเพราะเรื่องราวของภาคประชาชนมักถูกบันทึกผ่านการเล่าเรื่องมากกว่าการจดบันทึก วัตถุสิ่งของจึงมีความสำคัญในฐานะตัวกระตุ้นที่จะช่วยดึงความทรงจำและเรื่องเล่าออกมาจากคนที่เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์แต่อาจหลงลืมไป และทำให้เรื่องเล่าเหล่านี้มีการส่งต่อ และไม่ได้ถูกลืมหายไป

ชาตรี ระบุด้วยว่าวัตถุสิ่งของยังเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างคนในยุคปัจจุบันคนในอดีตที่ไม่เคยพบเจอกันมาก่อน โดยในช่วงการชุมนุมเมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่ามีการผลิตวัตถุสิ่งของสมัยใหม่เช่น เสื้อผ้า หมุด นาฬิกา พวงกุญแจที่ถูกออกแบบมาคล้ายกับลักษณะของหมุดคณะราษฎรเพื่อเป็นการรำลึกถึงคณะราษฏรที่เคยมีตัวตนอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์อันสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทการทำงานของวัตถุสิ่งของในฐานะเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ในยุคปัจจุบันเข้ากับคณะราษฎรในอดีต ราวกับว่าคนรุ่นใหม่ต่างรู้สึกว่าตัวเองก็เป็นลูกหลานของคณะราษฎรด้วยเช่นกัน วัตถุสิ่งของจึงมีบทบาททำงานทั้งในแง่ของความทรงจำ และพลังทางการเมืองที่สามารถดึงเราเข้าไปหาบุคคลสำคัญในอดีตได้

แนวทางการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์สามัญชนที่เป็นไปได้ในอนาคต

ชาตรี ระบุว่าการแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้พิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลกต่างประสบปัญหากับเรื่องการจัดแสดงแบบออนไซต์ เพราะถูกห้ามการเข้าเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งจึงปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดทำ Virtual Museum หรือ พิพิธภัณฑ์เสมือนจริงที่ผู้ชมสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแต่ได้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์จริงๆ ซึ่งก็เป็นวิธีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์รูปแบบหนึ่งที่มีความน่าสนใจและน่าจะนำมาปรับใช้กับพิพิธภัณฑ์สามัญชนได้ เพราะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์จริงๆ

ชาตรีระบุด้วยว่าพิพิธภัณฑ์สามัญชนควรจะให้ความสำคัญกับระบบหลังบ้าน หรือกระบวนการเก็บรักษาสภาพของวัตถุสิ่งของ เนื่องจากวัตถุสิ่งของที่ถูกเก็บสะสมมาเป็นระยะเวลานานจะยิ่งมีมูลค่าสูง ฉะนั้น เขาจึงมองว่าหากมีงบประมาณไม่มากควรเน้นไปที่ระบบหลังบ้านเป็นอันดับแรก ส่วนการจัดแสดงวัตถุก็เสนอเริ่มจากการทำ Virtual Museum เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์อื่น

ภาพ: Narumol Choochan

บันทึกเรื่องราวทั้งสองฝ่าย ทั้งความภาคภูมิใจและความละอาย

ไอดา อรุณวงศ์ จากมูลนิธิสิทธิอิสราและกองทุนราษฎรประสงค์ กล่าวว่าการเก็บเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของประชาชนทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองดังเช่นกลุ่มคนเสื้อเหลือง และกลุ่มคนเสื้อแดง หรือฝ่ายใดก็ตามนั้น แม้ว่าจะน่ากระอักกระอ่วน แต่ก็เป็นหน้าที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์สามัญชนในการพยายามต่อจิ๊กซอว์ภาพประวัติศาสตร์สามัญชนให้สมบูรณ์ได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การมีอยู่ของเหลืองนำมาสู่การเกิดขึ้นของแดง เรื่องราวของทั้งสองฝ่ายมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน พิพิธภัณฑ์จึงต้องเก็บเรื่องเล่าของทุกฝ่าย เพื่อบันทึกเรื่องเล่าประวัติศาสตร์การมีอยู่ของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่มีความคิด ความเชื่อแบบหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่งๆได้อย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม การบันทึกเรื่องราวของแต่ละฝ่ายอาจแฝงด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ต่างกันไป ฝ่ายหนึ่งภาคภูมิใจ แต่อีกฝ่ายหนึ่งอาจละอาย ไอดา ได้ยกตัวอย่างของป้านกผู้เก็บสะสมสิ่งของจากขบวนการเคลื่อนไหวที่ตนเองมีส่วนร่วมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันด้วยความภูมิใจ เพราะเล็งเห็นว่าวัตถุสิ่งของเหล่านี้ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนธรรมดาสามัญที่ควรค่าแก่การส่งต่อเรื่องราว แต่ในอีกทางหนึ่ง ไอดาก็ได้ตั้งคำถามไปยังผู้คนที่เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายหนึ่ง กล่าวคือฝ่ายคนเสื้อเหลืองและฝ่ายกปปส. ว่าเมื่อมาถึงวันนี้พวกเขายังภูมิใจกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของตนมากพอที่จะเก็บบันทึกหลักฐานการมีส่วนร่วมของตนเอาไว้เองหรือไม่ หรือว่าละอายจนต้องส่งต่อสิ่งของสะสมมาให้พิพิธภัณฑ์สามัญชนเป็นฝ่ายเก็บแทน

ในช่วงก่อนหน้า อานนท์ได้ประเมินว่าในระยะเวลาสิบปีนับจากนี้ พิพิธภัณฑ์สามัญชนน่าจะยังไม่มีกำลังพอที่จะมีสถานที่ตั้งเป็นของตัวเอง ไอดาได้โต้ว่าในอนาคตพิพิธภัณฑ์สามัญชนจะต้องมีพื้นที่ทำการหรือสถานที่ตั้งที่เป็นหลักแหล่งชัดเจน เพื่อให้การจัดระเบียบของสะสมเป็นไปอย่างมีระบบและง่ายต่อการบริหารจัดการสำหรับคนรุ่นต่อไปที่จะมาสานต่อภารกิจนี้ที่ตั้งต้นมาจากการตะลุยทำคนเดียว

ภาพ: Jeerapa Studio