รายงานกองทุนราษฎรประสงค์ประจำปี 2566 ตอนที่ 6: นายประกันในเขาวงกต

ออกแบบกราฟิกโดย ศูนย์สองสตูดิโอ

เราขอปิดท้ายรายงานประจำปี 2566 ด้วยเขาวงกตของกลุ่มที่เราจัดไว้ให้อยู่รั้งท้าย คือกลุ่มนายประกัน อันเป็นต้นธาร (ต้นตอ!) ของวิบากกรรมอันยาวนานของกองทุนแห่งนี้ ที่ตั้งต้นจากนายประกันมนุษย์ป้าหนึ่งคน  จนเป็นสองคน จนไปสู่การตั้งนามให้เป็นเกียรติแก่ประชาชนว่า “ราษฎรประสงค์” ก่อนจะลงเอยด้วยการขึ้นทะเบียนตัวเองต่อราชการเป็น “มูลนิธิสิทธิอิสรา” เพื่อรักษากองทุนไว้ให้ถึงวันที่ภารกิจของมันจะได้สิ้นอายุขัย

ในช่วงแรกนั้น ตัวตนของนายประกันเกิดขึ้นอย่างง่ายๆ หลังรัฐประหาร เพียงเพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนจะได้รับสิทธิประกันตัวในการต่อสู้คดี เพราะถึงแม้จะมีองค์กรทนายความที่ได้รับงบสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นค่าใช้จ่ายและค่าจ้างทนายให้มาทำหน้าที่ว่าความแก่ประชาชนมากมาย แต่ก็มิได้ครอบคลุมถึงความช่วยเหลือเรื่องเงินประกัน ประชาชนจึงต้องอาศัยการระดมทุนจากประชาชนมาช่วยประชาชนด้วยกันเป็นการเฉพาะหน้า ซึ่งในที่สุดได้กลายมาเป็นข้อพิสูจน์ถึงพลังเจตจำนงบริสุทธิ์ที่ไม่มีใครจ้างวาน เพียงแต่ต้องอาศัยใครสักคนมาทำหน้าที่นายประกัน ที่จะต้องคอยสแตนด์บายตลอดเวลาและต้องวิ่งไปยื่นประกันให้ได้ทุกที่ โดยไม่มีงบประมาณค่าใช้จ่าย ไม่มีค่าตอบแทน และไม่เกี่ยงว่าประกันคดีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายอาญาข้อใด ตราบเท่าที่กฎหมายยังคงยืนยันหลักสมมติฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ในช่วงปี 2564 ที่เกิดการชุมนุมและการจับกุมจำนวนมากรายวัน นายประกันรุ่นแรก 2 คนของกองทุนไม่สามารถรับมือได้ทันอีกต่อไป ทำให้จำเป็นต้องอาศัยทนายความมาเป็นนายประกันแก้ขัดอยู่หลายคดี ครั้นเกิดกรณีชุมนุมที่ดินแดง องค์กรทนายความต้องการให้กองทุนหานายประกันมาประจำการให้ทนายเพิ่มขึ้น จึงเกิดเป็นนายประกันกองทุนรุ่นสอง โดยองค์กรทนายความดูแลค่าใช้จ่ายขั้นต่ำให้ 3 คน (ปัจจุบันเหลือ 2 คน) 

การมีนายประกันกองทุนรุ่นสองช่วยลดภาระหนักที่เคยตกอยู่กับนายประกันกองทุนรุ่นแรก ลดการพึ่งพาทนายความ และลดความจำเป็นต้องรบกวนเครือข่ายส่วนบุคคลยามคับขันของนายประกันรุ่นแรก ต่อมากองทุนได้ตั้งทีมนายประกันเพิ่มเติมเพื่อรองรับการยื่นประกันทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาค โดยมูลนิธิสิทธิอิสราดูแลค่าใช้จ่ายของนายประกันรุ่นสองที่เพิ่มขึ้นมานี้เองด้วยงบบริหารงานของมูลนิธิ เรายังคงไม่นำเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์มาปะปนกับการทำงานของนายประกัน

ในแผ่นภาพชื่อ “แยกวงนายประกัน” เราแบ่งนายประกัน 105 คนในฐานข้อมูลของเราออกเป็น 5 ประเภท  และแสดงส่วนแบ่งความรับผิดชอบของแต่ละประเภท อันได้แก่ นายประกันกองทุนรุ่นแรก, นายประกันกองทุนรุ่นสอง, ผู้ปกครองหรือญาติ, เครือข่าย, และทนายความ

ณ เวลาสิ้นปี 2566 นายประกันกองทุนรุ่นแรก 2 คน ยังรับผิดชอบจำเลยอยู่ 182 รายจาก 33 คดี (เฉลี่ยรับผิดชอบจำเลยคนละ 91 ราย!) ขณะที่นายประกันกองทุนรุ่นสอง 8 คน รับผิดชอบจำเลย 260 รายจาก 135 คดี (เฉลี่ยรับผิดชอบจำเลยคนละ 32.5 ราย)

จะสังเกตได้ว่า นายประกันวงใหญ่สุด 71 คน คือวงของผู้ปกครองหรือญาติ ส่วนใหญ่เป็นคดีของเยาวชน ที่ศาลเยาวชนฯ กำหนดให้นายประกันต้องเป็นผู้ปกครอง นอกนั้นก็มีบ้างบางกรณีที่เราจำเป็นต้องให้ญาติจำเลยมาเป็นนายประกันชั่วคราวในยามคับขัน

ด้วยสภาพที่มีนายประกันร้อยพ่อพันแม่เช่นนี้ กองทุนจึงต้องรับบทเจ้าหนี้ของนายประกันที่เซ็นสัญญาว่าจะคืนเงินกองทุนทันทีหรืออย่างช้าไม่เกินสองวันหลังจากศาลโอนเงินคืนเข้าบัญชีนายประกัน เจ้าหน้าที่กองทุนต้องกลายเป็นพนักงานทวงหนี้เมื่อนายประกันไม่คืนเงินตามสัญญา ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับทั้งนายประกันผู้ปกครอง-ญาติ, ทนายความ และนายประกันกองทุนรุ่นสอง

ระบบธุรการศาลก็ใช่ว่าจะไว้ใจได้เสมอไป เมื่อศาลไม่โอนเงินคืนนายประกันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบราชการเอง (กรณีที่นานที่สุดที่บันทึกไว้คือ 8 เดือน!) ทำให้นายประกันต้องคอยติดตามเรื่องจากศาล ซึ่งหลายครั้งวกวนเสียจนทางออกที่รวดเร็วที่สุดคือนายประกันต้องลงทุนเดินทางไปขอ “แฟ้มสำนวน” เจ้าปัญหาจากห้องเก็บสำนวนเพื่อเอาไปยื่นให้ห้องการเงินของศาลด้วยตัวเอง (มีกรณีหนึ่งที่นายประกันต้องเดินทางชนิดถ่อข้ามจังหวัด เพื่อไปขอแฟ้มสำนวนจากห้องเก็บชั้นสองของศาลแล้วถือเดินลงบันไดมายื่นส่งให้ห้องการเงินที่ชั้นล่างของตึกเดียวกัน เพื่อที่แผนกการเงินจะได้สามารถทำเรื่องคืนเงินประกันให้เสียทีหลังจากที่โทรตามอย่างไร้ผลมาหลายเดือนแล้ว)

การต้องคอยติดตามเรื่องและรับมือกับการผัดผ่อนเหล่านี้สรุปคร่าวๆ ออกมาเป็นผังงาน “ฮาวทูรับเงินประกันคืน” สองฉบับ ระหว่างความคาดหวังกับความเป็นจริง

เขาวงกตสุดท้ายที่เราต้องเจอ เกิดขึ้นเมื่อจำเลยเป็นฝ่ายไม่ทำตามสัญญา แผ่น “ฮาวทูไม่ได้รับเงินประกันคืน” รวบรวมเส้นทางต่างๆที่นำไปสู่การริบ/ปรับเงินประกันหลังจำเลยไม่มาตามนัดศาล โดยมีทั้งกรณีที่นายประกันสามารถตามตัวจำเลยมารายงานตัวได้ภายหลัง และกรณีที่สุดท้ายแล้วนายประกันต้องไปปรากฏตัวต่อหน้ากฎหมายโดยลำพัง เพื่อฟังคำสั่งริบเงินจากศาล

ณ ขณะปัจจุบันในสิ้นปี 2567 นี้ คดีที่เราวางประกันไว้กำลังทยอยสิ้นสุด สิทธิในการประกันตัวถูกลดทอนน้ำหนักลงไปเมื่อผู้ต้องขังเกือบทั้งหมดถูกคุมขังตามคำพิพากษาหลังสารภาพหรือปราชัยไม่ว่าชั้นต้น อุทธรณ์ หรือฎีกา นี่เป็นสิ่งที่เราไม่ได้คาดหมายไว้ในวันแรกเริ่มที่เพียงแต่จะมาทำหน้าที่นายประกันให้ทุกคนสามารถต่อสู้คดีอย่างเต็มศักยภาพตามกฎหมายเท่านั้น เมื่อมาถึงขั้นนี้ มูลนิธิจึงต้องขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ตามกฎหมายเพื่อให้สามารถรองรับการช่วยเหลือระยะยาวในทัณฑสถาน รวมทั้งการช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังเพื่อผลในการฟื้นฟูบำบัดต่างๆ ซึ่งเราได้ทำมาอย่างต่อเนื่องดังที่รายงานต่อผู้บริจาคในทุกสัปดาห์

ถ้าหากว่าถึงตอนนี้ท่านยังติดอยู่ในเขาวงกตไม่ว่าวงใด เราก็ยังติดอยู่ไม่ต่างกัน และสัญญาว่าจะอยู่เป็นเพื่อนกันไปจนกว่าจะถึงจุดจบไม่ว่าทางหนึ่งทางใด และไม่ว่าฐานะนายประกันจะหมดความหมายไปแล้วหรือไม่ก็ตาม


อ่านตอนที่แล้ว

หรือกลับไปอ่านตอนแรก