
หากทุกท่านยังจำกันได้ รายงานประจำปีฉบับแรกของกองทุนราษฎรประสงค์ในปี 2565 คือการประมวลกำลังจากการขอแรงราษฎรในปีดังกล่าวนั้นที่เกิดภาวะคับขันขึ้นหลายครั้งเมื่อยอดเงินในบัญชีร่วงจากจุดตั้งต้นที่ 9.9 ล้านบาทลงมาจนปริ่มระดับอันตราย กราฟในภาพถัดไป “ยอดรวมกองทุน” แสดงให้เห็นภาวะดังกล่าวโดยเปรียบเทียบกับภาวะในปีถัดมาคือปี 2566 ที่ยอดเงินในบัญชีเริ่มพุ่งกลับขึ้นมาเมื่อคดีต่างๆ ทยอยถึงกาลพิพากษา อันส่งผลให้เงินประกันได้ทยอยคืนกลับมา และทำให้โฟกัสของรายงานประจำปี 2566 จึงย้ายไปที่การสำรวจสังคายนาเขาวงกตของเงินประกันที่ขนานกันไปกับเขาวงกตของการทำหน้าที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายในกระบวนการยุติธรรม

บัดนี้ ในวาระรายงานสรุปการดำเนินงานประจำปีของปี 2567 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป กราฟในภาพเดิมที่แสดงยอดเงินเป็นแผงเป็นแผ่นหนักแน่นอยู่ด้วยวงเงินยืนพื้น 6-10 ล้านบาทตลอดทั้งปี คือตัวกำหนดประเด็นใจกลางของปี 2567 ที่ผ่านมานี้และนับจากนี้ไป ที่เป็นเรื่องของเงินซึ่งกำลังต้องถูกระบายออกไปในสัดส่วนที่มากกว่าเงินประกันที่หมุนกลับเข้ามา โดยส่วนใหญ่ของเงินนั้นถูกใช้ไปเพื่อการดูแลบรรดาผู้ต้องขังและครอบครัวของพวกเขาภายหลังคำพิพากษา เพราะนี่คือสถานการณ์ที่การประกันตัวไม่ใช่คำตอบหลักอีกต่อไปเมื่อสิทธิในการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีของพวกเขาได้มาลงเอยยังปลายทางแห่งนี้
เราสามารถประเมินอัตราของเงินที่ระบายออกนี้ได้จากแผนภูมิแท่งในภาพถัดไป “ยอดรับ-จ่าย-สูญในรอบปี” ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ในปี 2567 เมื่อเราไม่มีการขอแรงราษฎรอีกต่อไป รายรับของกองทุนราษฎรประสงค์ที่มาจากเงินบริจาครายใหม่จึงมีน้อยเสียยิ่งกว่าร้อยละ 1 ทว่าเราก็ยังคงมีเงินหมุนจ่ายช่วยเหลือได้ไม่ขาดสายด้วยรายรับจากเงินประกันที่ได้รับคืนมาตลอดทั้งปีรวมทั้งสิ้น 19,098,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98 ของรายรับทั้งหมด ต่อให้ในระหว่างนั้นเรายังคงมีการจ่ายวางประกันใหม่ (ส่วนใหญ่คือคดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกา) รวมตลอดทั้งปีเป็นเงินถึง 12,785,000 บาท แต่ส่วนต่างของเงินประกันขาเข้าก็ยังมากกว่าเงินประกันขาออกถึง 6,313,000 บาท ซึ่งนับว่าพอๆกันกับของปี 2566 ที่ส่วนต่างอยู่ที่ 6.34 ล้านบาท

วงจรหมุนเงินข้างต้นนี้เริ่มถูกตัดตอนด้วยเงินช่วยเหลือประเภทจ่ายแล้วหมดไป อันได้แก่เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปตามนัดหมายคดีต่างๆ ของผู้ต้องหา, จำเลย, เยาวชนและผู้ปกครอง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางของญาติผู้ต้องขัง เงินช่วยเหลือในหมวดนี้ตลอดทั้งปี 2567 เราจ่ายไปทั้งสิ้น 4.37 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับของปี 2566 คือ 4.26 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่นับรวมรายจ่ายที่เป็นเงินช่วยเหลือค่าเสียหายอีก 84,261 บาท
อีกหมวดของเงินช่วยเหลือประเภทจ่ายแล้วหมดไป คือหมวดเงินช่วยเหลือผู้ต้องขัง ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการจ่ายออกไปเพิ่มขึ้นมากกว่าในปีก่อนหน้า กล่าวคือในปี 2567 เรามีการจ่ายเงินช่วยเหลือในหมวดนี้สูงถึง 2,292,5000 บาท (สำหรับ 61 คน) นับว่าเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าตัวจากที่เคยใช้จ่ายไปในปี 2566 จำนวน 757,500 บาท (สำหรับ 48 คน) จำนวนเงินที่สูงขึ้นมากนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ต้องขังย้อนหลัง ทั้งในคดีที่สิ้นสุดไปแล้วด้วยการถูกขังไม่ให้ประกันอยู่แรมปีจนคดียกฟ้อง (!) และที่สิ้นสุดไปแล้วด้วยคำพิพากษาจำคุกจนได้พ้นโทษออกมา
นอกจากนี้ยังมีเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นหมวดที่กำหนดขึ้นมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะในปี 2567 เราได้ใช้จ่ายไปทั้งสิ้น 654,000 บาทให้แก่ 41 สมาชิกครอบครัวที่ผู้ต้องขังแสดงความจำนงให้เป็นผู้รับสิทธิ์เงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าจนกว่าผู้ต้องขังจะได้รับการปล่อยตัวคืนสู่สังคมและสามารถกลับไปทำหน้าที่ดูแลครอบครัวของตนเองต่อไป
ส่วนเงินที่ไม่ได้อยู่ในหมวดรายจ่าย แต่หมดไปเพราะเหลือวิสัยที่เราจะควบคุมได้ คือเงินหมวดสูญ อันหมายถึงเงินประกันที่ถูกศาลริบไปเนื่องจากจำเลยไม่มาปรากฏตัวตามนัด ซึ่งเฉพาะในปี 2567 ที่ผ่านมา เราถูกริบเงินไปทั้งสิ้น 7.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวของยอดริบสะสมตั้งแต่ปี 2564-2566 ซึ่งเคยรวมกันอยู่ที่ 3.658 ล้านบาท
แล้วเราจะเหลือเงินอยู่เท่าไหร่? ขอให้ดูภาพถัดไป “ยอดเงินประกันคงเหลือในระบบ” ท่านจะเห็นว่า หากตัดเงินประกันที่ถูกริบออกไป ยอดเงินประกันที่คงเหลืออยู่ ณ สิ้นปี 2567 คือ 33,193,500 บาท ซึ่งลดลงมาราว 14 ล้านบาทจากสิ้นปี 2566 ที่เคยมีเหลืออยู่ราว 47 ล้านบาท อันเป็นยอดที่ก็ลดลงมาแล้วราว 10 ล้านบาทจากสิ้นปี 2565

แล้ว 33 ล้านบาทที่ว่านี้ ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ไหนบ้าง? ผังในภาพสุดท้ายแจกแจงว่า เงินจำนวนนี้อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของมันในการวางเป็นหลักประกันของผู้ต้องหาและจำเลยทั้งสิ้น 443 รายจาก 216 คดีใน 23 ศาลและ 1 สถานีตำรวจ โดยแบ่งเป็นคดีในชั้นสอบสวน 63 ราย, ชั้นต้นหรือชั้นพิจารณาคดี 272 ราย, ชั้นอุทธรณ์ 80 ราย และชั้นฎีกา 16 ราย และอยู่ระหว่างรอรับคืนอีก 12 รายในคดีที่สิ้นสุดแล้ว

กล่าวโดยสรุป แม้เราจะมีเงินที่ระบายออกไปมากกว่าเงินที่หมุนกลับเข้ามา นั่นคือ ในปี 2567 เรามีส่วนต่างเงินประกันรับคืน-วางใหม่ (เงินหมุน) อยู่ที่ 6.31 ล้านบาท ในขณะที่เราจ่ายเงินช่วยเหลือแบบหมดไป (ทุกหมวดทั้งค่าเดินทาง, ค่าเสียหาย, เงินช่วยเหลือผู้ต้องขัง, เงินช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขัง) รวมทั้งสิ้น 7.4 ล้านบาท อีกทั้งยังมีเงินที่สูญไป (เงินประกันที่ถูกริบ) ในจำนวนเท่าๆกับเงินช่วยเหลือรวมทุกหมวดตลอดทั้งปี คือ 7.4 ล้านบาทพอดีอีกเหมือนกัน แต่เราก็ยังคงมีเงินออมก้นกระปุกสำหรับใช้จ่ายดูแลช่วยเหลือผู้ที่ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีและผู้ที่อยู่ระหว่างรอวันพ้นจากเรือนจำต่อไป อันได้แก่เงินจำนวน 33 ล้านบาทที่ฝากอยู่ในระบบยุติธรรมของประเทศนี้ ณ สิ้นปี 2567
