นายประกันปุจฉาชีพ

นกกาน้ำ เขียน
บุญชนินทร์ สุทธสม วาด

การเป็นนายประกันอาสาทำให้มีโอกาสพบเจอเรื่องราวต่างๆ และเห็นโลกกว้างได้มากขึ้น ทั้งแววตากังวลของคนที่นั่งรอคำสั่งอนุญาตประกัน  น้ำตาของผู้แพ้  รอยยิ้มของผู้ชนะ เสียงตะโกนบอกลาผัวผ่านกรงเหล็กบนรถเรือนจำของเมียที่กำลังอุ้มลูกน้อยแนบอก แต่สิ่งที่หากไม่ทำงานเป็นนายประกันอาสาคงยากจะได้เจอคือ “นายประกันอาชีพ”

. . .

ณ ศาลแห่งหนึ่ง นามสมมติ อาญารัชดา ในวันพิพากษาศาลชั้นต้นของคดีทางการเมืองคดีหนึ่ง ศาลมีคำสั่งจำคุกจำเลยโดยไม่รอลงอาญา นายประกันอาสาจึงต้องประกันจำเลยออกมาสู้คดี

ระหว่างดำเนินเรื่องประกัน ขณะกำลังเดินออกจากส่วนงานบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์ (หรือชื่อเล่นคือ ห้องยื่นประกันตัว) เพื่อไปรับเอกสารจากพี่ไรเดอร์ ก็มีคุณป้าผิวขาวค่อนข้างท้วมส่งเสียงตะโกนพร้อมกวักมือเรียกเรา คุณป้าแต่งตัวค่อนข้างดี เสื้อมีปกคอเหมือนพนักงานออฟฟิศใส่กันตามกระแสนิยมปัจจุบัน กางเกงสแลกสีดำรองเท้าหุ้มส้น ซึ่งแตกต่างจากนายประกันอาสาอย่างเราที่ใส่กางเกงขายาวผ้ายืดรองเท้าสุบกับเสื้อยืดที่ได้รับแจกจากเพื่อนนักกิจกรรมตามงานชุมนุม

คุณป้า : หนูๆ
(เรารีบเดินไปหาเพราะคิดว่าเป็นญาติของผู้ที่ต้องคดีการเมืองที่เรามาเป็นนายประกันวันนี้)
คุณป้า : ได้ประกันหรือยัง มีอะไรให้ช่วยก็บอกนะ
น.ก.น. : ยังค่ะ ขอบคุณค่ะ เดี๋ยวหนูไปเอาเอกสารมาประกันค่ะ
คุณป้า : ถ้าไม่มีนายประกันบอกได้ปรึกษาได้นะ ป้าเป็นนายประกัน ช่วยได้
(น.ก.น. คิดงงในใจ แล้วกูไม่ใช่นายประกันหรอวะ เอ๊ะ หรือว่าญาติเขาจะประกันเอง แล้วทำไมกองทุนฯกับศูนย์ทนายฯ ไม่แจ้งวะ)
น.ก.น. : ค่ะขอบคุณค่ะ พอดีหนูเป็นนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์อยู่แล้ว หรือว่าต้องเปลี่ยนนายประกันคะ?
คุณป้า : ออๆ นายประกันอยู่แล้วหรอ ดีๆ มีอะไรก็ช่วยกันได้
แล้วเราก็รีบลงไปเอาเอกสารกับไรเดอร์ พอขึ้นมาห้องประกันป้ายังนั่งอยู่ที่เดิมเหมือนรอใคร

หลังจากวันนั้นก็ยังได้เจอคุณป้าทุกครั้งที่มีธุระไปศาล แต่คุณป้าไม่ได้เข้ามาเรียกอีกเลย วันหนึ่งสบโอกาสได้คุยกับเจ้าหน้าที่ศาล จึงถามถึงคุณป้าคนนั้นว่าเขาเป็นใคร ทางศาลมีนายประกันบริการด้วยหรือ เจ้าหน้าที่ศาลก็เล่าให้ฟังทำนองว่า

“คนพวกนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ศาลนะ เป็นพวกตีนโรงตีนศาล มาศาลทุกวัน พวกทำนาบนหลังคน ที่บอกว่าตัวเองเป็นนายประกัน ก็คือเอาเงินมาวางประกันให้แล้วคิดดอกเบี้ยกับจำเลยแพงๆ หรือบางทีก็เป็นนายหน้าหาทนายให้กับญาติจำเลยแล้วเก็บเงินทั้งจากญาติจำเลยและทนาย ทางศาลก็ไม่ได้มีวิธีจัดการ จะไล่ก็ไล่ไม่ได้ ส่วนนายประกันอาชีพก็มีบริษัทที่เขามาขายประกันประจำอยู่ใต้ถุนศาลเผื่อญาติจำเลยไม่มีเงินประกันก็ไปซื้อประกันจากบริษัทได้”

อ้าว ตกลงคุณป้าเป็น “มิจ” เหรอเนี่ย แล้วทำไมมาลอยหน้าลอยตาที่ศาลสถิตยุติธรรมอันผ่องใสได้ทุกเมื่อเชื่อวันหละ

. . .

ณ ศาลอีกแห่งหนึ่งแถวตลิ่งชัน วันที่นายประกันอาสาถูกปรับ เพราะจำเลยไม่ไปตามนัดศาลเนื่องจากจำเลยประสบอุบัติเหตุ

หลังจากจำเลยออกจากโรงพยาบาล นายประกัน จำเลย และทนาย จึงมาที่ศาลเพื่อดำเนินการเรื่องค่าปรับนายประกัน ระหว่างนั้นก็ได้ยินเสียงคุยโทรศัพท์ดังลั่นของชายผู้หนึ่งซึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะตัวใหญ่อันมีป้ายติดไว้ชัดเจนว่าเป็นนายประกันจากหนึ่งในบรรดาบริษัทประกันเอกชนทางศาลจัดโซนที่นั่งเด่นตระหง่านไว้ให้ ชายผู้เป็นนายประกันอาชีพคนนั้นโทรศัพท์คุยกับใครสักคนที่เดาได้ว่าถ้าไม่ใช่จำเลยก็น่าจะเป็นญาติของจำเลยในคดีที่เขาดูแลอยู่ เพราะมีการขู่ตะคอกใส่อารมณ์แบบพี่ว๊ากว่าถ้าไม่มาศาลภายในวันนี้จะถอนประกันและจะได้ไปนอนในคุก พร้อมทั้งพ่นคำด่าอีกหลายคำ เราพลอยได้นั่งฟังบทสนทนาอยู่นาน เพราะกว่าเจ้าหน้าที่ศาลจะเรียกไปเซ็นเอกสาร จ่ายเงินค่าปรับ แล้วได้แยกย้ายกันกลับบ้านก็ใช้เวลานานตามเคยเหมือนกัน

นั่งฟังไปก็นึกๆไปว่า นายประกันอาชีพเขาดุนะเนี่ย  หรือว่าคราวหน้านายประกันอาสาต้องทำตัวดุๆบ้างดีกว่า จำเลย (โดยเฉพาะที่เป็นนักกิจกรรม) จะได้รู้จักรักษาเวลาและไปตามนัดศาลทุกรอบ

. . .

ที่ศาลจังหวัดปริมณฑลแห่งหนึ่ง เวลาบ่ายหลังจากเข้าห้องพิจารณาเพื่อไปฟังคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามที่หวัง งานถัดไปของนายประกันอาสาก็คือการรีบออกจากห้องมาทำเรื่องประกันตัวจำเลย ซึ่งปกตินายประกัน จะเป็นผู้ดำเนินการเอง แต่วันนี้ทนายใจดีอาสาเดินเอกสารจัดการให้ทั้งหมดโดยปล่อยนายประกันนั่งคุยเล่นเย็นใจอยู่เป็นเพื่อนจำเลยในห้องต่อไป

พอใกล้ค่ำ จวนได้เวลาราชการเลิกงาน ทนายก็มาตามนายประกันให้ไปเซ็นเอกสารและวางเงินประกัน เมื่อไปถึงส่วนงานประกันของศาล ก็เห็นว่ามีคุณลุงท่านหนึ่งนั่งรอฟังผลประกันอยู่เหมือนกัน และผลประกันหรือที่ชอบเรียกกันว่า “คำสั่ง” นั้นก็ “ลง” มาทันก่อนห้าโมงเย็นว่าญาติของคุณลุงได้รับอนุญาตให้ประกันตัวโดยต้องมีหลักทรัพย์ 50,000 บาท มาวางประกัน

สีหน้าของคุณลุงเมื่อทราบคำสั่งศาลนั้นปะปนกันทั้งความดีใจและกังวล คุณลุงเอ่ยถามเจ้าหน้าที่ว่า “ถ้าเงินไม่พอต้องทำยังไงครับ”

เจ้าหน้าที่ตอบว่า “ถ้าวันนี้ไม่มีเงินมาวางประกันก็มาวันหลังได้ หรือไม่ก็ไปคุยกับนายประกันอาชีพทางนู้น” และชี้ไปทางกลุ่มนายประกันจากบริษัทประกันต่างๆที่นั่งอยู่ฝั่งขวามือของงานประกันตัว  เมื่อได้ยินดังนั้นลุงก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรหาใครสักคนแล้วพูดคุยเรื่องเงินประกันจำนวน 50,000 บาท แล้ววางโทรศัพท์ ท่าทางการลุกเดินสลับนั่งพร้อมกับขยับแว่นตาขึ้นลงเพื่ออ่านข้อความในโทรศัพท์ของคุณลุงแสดงถึงความทุกข์และความกังวลจนใครที่เห็นก็สัมผัสได้

พอเราเซ็นเอกสารประกันในความรับผิดชอบของเราเสร็จ จึงเดินไปถามไถ่คุณลุงว่าได้คุยกับบริษัทประกันหรือยัง และเสนอว่าทำไมลุงไม่ให้จำเลยติด อีเอ็ม (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว) เพื่อจะได้ลดเงินประกันลงบ้าง  ลุงมองหน้าด้วยแววตามีหวังทั้งที่ยังกังวล ขยับแว่นตาอีกรอบแล้วถามเราว่า “อีเอ็มคืออะไรนะครับ ถ้าติดวันนี้จะทันไหม แล้วเงินตั้ง 50,000 บาท นายประกันเค้าจะช่วยได้ไหม ลุงไม่กล้าไปคุยกับเขา  คงต้องไปหายืมเงินคนอื่นก่อน ก็ไม่รู้จะยืมได้หรือเปล่า”

ระหว่างที่ยืนคุยกับคุณลุงอยู่นั้นเจ้าหน้าที่ศาลก็เรียกให้ไปจ่ายเงินประกัน ซึ่งเป็นการโอนจ่ายสำหรับจำเลยเจ็ดคน คนละ 10,000 บาท รวม 70,000 บาท ด้วยเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ อันเป็นเงินของประชาชนที่ช่วยกันบริจาคมาเพื่อช่วยประกันตัวให้กับประชาชนด้วยกันที่โดนคดีในข่ายของการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองตามหลักประชาธิปไตย

แล้วการปฏิบัติหน้าที่ของนายประกันอาสาก็สิ้นสุดลงเมื่อเจ้าหน้าที่เอาใบเสร็จเงินประกันมาให้ในเวลาเกือบห้าโมงครึ่ง เหล่าจำเลยเดินลงมาจากห้องพิพากษา บอกลาทนายกับนายประกัน แยกย้ายกันกลับด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

แต่ไม่รู้ว่าคุณลุงคนนั้นจะหาเงิน 50,000 บาทมาวางเป็นหลักประกันได้ทันเวลาเลิกงานของศาลหรือเปล่า เล่นเอาเราพลอยรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมว่า ประชาชนธรรมดาทั่วไปที่ไม่มีเงินและไม่ได้เป็นนักต่อสู้ทางการเมือง จะมีสิทธิมีนายประกันอาสา/อาชีพกับเขาได้บ้างไหม

ทำไมเราไม่เคยได้ยินทั้งทนายความและศาลแนะนำให้ประชาชนไปใช้บริการของสิ่งที่เรียกว่า “กองทุนยุติธรรม” กันบ้าง และทำไมกองทุนยุติธรรมที่ใช้เงินจากราษฎรเหมือนกัน (ในรูปของภาษี) จึงไม่ได้มีนายประกันมาเปิดพื้นที่รอให้บริการอยู่ในศาลเหมือนอย่างที่ศาลอนุโลมให้แก่นายประกันไม่สัมมาชีพ  และอำนวยการให้แก่นายประกันเอกชนอาชีพบ้าง

ฝากวรั้ยหั้ยคิสส์เด้อค่ะเด้อ