ออกแบบกราฟิกโดย ศูนย์สองสตูดิโอ
สำนวน “ขอแรง” มักถูกใช้ในช่วงที่จำเป็นต้องมีการระดมเงินบริจาคเพื่อประกันตัวประชาชนโดยกองทุนราษฎรประสงค์ หากยังจำกันได้ เรามักขึ้นต้นคำประกาศในช่วงเวลาวิกฤตินั้นว่า “ขอแรงราษฎร” และเราก็ผ่านวิกฤติอย่างยากลำบากมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยแรงที่ขอจากราษฎรจริงๆ
ในรายงานประจำปี 2565 ของกองทุนราษฎรประสงค์ ชื่อตอน “ขอแรงราษฎร” เราได้เคยเสนอเรื่องราวการระดมทุนของราษฎรที่ช่วยให้กองทุนฯ ฝ่าภาวะอันตรายไปได้สี่ครั้งในรอบปี 2565 มาเป็นตัวอย่างอันน่าชื่นใจ
ในปีนี้ เราขอนำเสนอความจริงอีกด้าน ที่จะทำให้เห็นว่า การ “ขอแรง” ที่ว่านั้น อันที่จริงแล้วมันมีสภาพเป็นขอแรงในเขาวงกตตลอดมาอย่างไร โดยยกตัวอย่างผ่านกรณีการโพสต์ขอแรงราษฎรติดๆ กันสี่ครั้งในช่วงสองสัปดาห์ของเทศกาลพิพากษาเดือนมีนาตามปฏิทินตุลาการไทยเมื่อปี 2566
เพราะความจริงที่ต้องยอมรับนั้นมีอยู่ว่า แม้การลงแรงของราษฎรจะหมายถึงพลังอันยิ่งใหญ่ แต่ในอีกด้าน มันคือ “ราคา” ที่ราษฎรต้องดิ้นรนหามาจ่าย ภายใต้ความไม่คงเส้นคงวาและความด้อยมาตรฐานในหมู่นักวิชาชีพหรือผู้ทำมาหากินกับกฎหมายทุกระดับ ซ้ำร้าย มันยังส่งผลต่อเนื่องเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมความไร้สำเหนียกของนักกฎหมายต่อหลักเสมอภาค เพราะยิ่งราษฎรต้องหาเงินมาประเคนเพื่ออิสรภาพที่จะได้ออกมาใช้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่มากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความจริงอันน่าอัปลักษณ์ในสังคมล้าหลังทั้งหลายที่ว่า คุก(จึงย่อม)มีไว้ขังคนจน
เบื้องหลังการบริหารกองทุนฯ ในช่วงกรณีตัวอย่างราวหนึ่งเดือนของปี 2566 ตามแผ่นภาพ “เป้าเคลื่อนที่” และ “ขอแรงวนไป” ที่นำมาแสดงนี้ อลวนไปด้วยการไล่ตามเงินจากอดีต (ที่ต้องได้รับคืนจากศาล) มาโปะกับปัจจุบัน (เท่าที่เหลือติดบัญชีและเท่าที่ระดมได้) และคาดคั้นเอาจากอนาคต (ยืมญาติมิตรมาก่อนแล้วค่อยใช้คืนเมื่อระดมได้) จนกระทั่งหลังรอดจากการขอแรงมาราธอนได้หนึ่งสัปดาห์ กองทุนฯ จึงได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ “ทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม” ยึดถือมาตรฐานอย่างเคร่งครัดเพื่อช่วยกันรักษาหลักประกันทางกฎหมายของประชาชนไทย มิใช่เห็นเงินบริจาค/เงินประกันเป็นของตาย ซึ่งเราได้คัดแถลงการณ์นี้บางส่วนมาลงในแผ่นภาพสุดท้าย “ข้อเรียกร้อง”
สำนวน “อันเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือ” ไม่ควรถูกใช้ประกอบการเสนอราคาให้สูงเกินจริงเข้าไว้อีกต่อไป และ “เหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง” ไม่ควรเป็นเรื่องเงิน แต่ควรเป็นเรื่องของปัญญาที่ฝ่ายหนึ่งจะรู้จักเสนอและอีกฝ่ายจะรู้จักวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายอย่างเป็นกิจจะลักษณะและตรวจสอบได้ ส่วนอัตราหลักทรัพย์วางประกัน หรือ “บัญชีมาตรฐานกลาง” หรือ “ยี่ต๊อก” หรือ “ไกด์ไลน์” ของศาลนั้น พึงเป็นขั้นต่ำให้รู้จักยึดถืออย่างเอาแน่เอานอนได้ ก่อนที่ควรจะได้มีการสังคายนาในขั้นต่อไป
การเดินทางของกองทุนฯ นี้ดำเนินมายาวนานอย่างลำพังท่ามกลางราษฎรมากมายนับจากจุดเริ่มต้นหลังรัฐประหารที่ศาลทหารกำหนดให้ต้องวางประกันด้วยเงินสดเท่านั้นในอัตราแบบทหารๆ จนมาถึงศาลพลเรือนในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยโวหารของหลักอำนวยความยุติธรรมสมัยใหม่ พร้อมกับที่กองทุนฯ ซึ่งยังต้องรับผิดชอบภาระผูกพันนี้ต่อไปก็ต้องปรับเปลี่ยนมาอยู่ในรูปของมูลนิธิตามกฎหมาย เมื่อหวนรำลึกกลับไป มีบทเรียนอันสาหัสที่ไม่อาจย้อนเวลาไปแก้ไขได้มากมาย แต่บทเรียนขั้นต่ำที่เราขอถอดไว้ผ่านรายงานประจำปีในรอบนี้ คือความหวังว่าจะถึงจุดสิ้นสุดเสียที–กับการขอแรงวนไปแบบมึนงงในวงกฎ
อ่านตอนต่อไป
รายงานกองทุนราษฎรประสงค์ประจำปี 2566 ตอนที่ 6: นายประกันในเขาวงกต
อ่านตอนที่แล้ว