รายงานกองทุนราษฎรประสงค์ประจำปี 2565 ตอนที่ 6: ยอดค่าประกันตัว ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายในเรือนจำ

ออกแบบกราฟิกโดย ศูนย์สองสตูดิโอ

ณ วันสิ้นปี 2565 เงินประกันตัวจากกองทุนราษฎรประสงค์ที่ยังคงตกค้างอยู่ในศาลทั่วประเทศ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 56,428,500 บาท โดยเป็นยอดรวมของหลักประกันทั้งสิ้น 947 คดี สองตัวเลขนี้น่าจะยังคงระดับสูงเช่นนี้ไปอีกสองสามปีจนกว่าคดีจะสิ้นสุด เพราะบรรดาคดีที่ทยอยพิพากษาไปแล้วในปี 2565 ก็ยังต้องมีวางประกันเพิ่มในชั้นอุทธรณ์และฎีกาต่อไป ในขณะที่คดีที่เราสามารถยื่นเรื่องขอรับหลักประกันคืนจากศาลได้แล้ว ก็ยังจะต้องใช้เวลาติดตามอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน (หรือเป็นปี!) กว่าจะได้เงินประกันคืนกลับมา  โดยในปี 2565 เราสามารถติดตามเงินประกันคืนมาได้ทั้งสิ้น 12,806,700 บาท แต่ขณะเดียวกันก็ต้องวางประกันใหม่ทั้งสิ้น 35,373,505.54 บาท

นอกจากการใช้เงินเพื่อวางประกันแล้ว ในปี 2565 กองทุนฯ ยังมีค่าใช้จ่ายจากมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน นั่นคือการให้ความช่วยเหลือด้านค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็นแก่ผู้ต้องหาและจำเลย เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้แม้มีอุปสรรคจากความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ในช่วงกลางปี 2565 กองทุนฯ ยังได้ขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีกหมวด อันสืบเนื่องมาจากการมีผู้ต้องหาและจำเลยในคดีทางการเมืองที่ถูกศาลปฏิเสธสิทธิการประกันตัวจำนวนมาก และทำให้พวกเขาต้องถูกจองจำอยู่ในเรือนจำอย่างต่อเนื่องยาวนาน กองทุนฯ จึงได้ตัดสินใจเพิ่มมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่จำต้องถูกขังเหล่านี้ ด้วยเหตุผลดังที่ประกาศในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ในโพสต์ของกองทุนฯว่า:

“เพื่อเป็นการส่งเสียงไปถึงคนข้างในเรือนจำว่าเรายังคงอยู่เคียงข้างพวกเขา แม้จะในฐานะกองทุนประกันตัวอันสูญเปล่าเมื่อศาลยังคงไม่ให้ประกัน เราขอเริ่มโครงการโอนเงินช่วยเหลือให้พวกเขาทุกคนในนั้น—ทุกคนที่การยื่นประกันของเราสูญเปล่า! เพราะศาลไม่เห็นว่าหลักประกันที่มาจากเจตจำนงของราษฎรอย่างพวกเรามีความหมายพอที่จะทำหน้าที่ของมันในการเป็นหลักประกันให้แก่ราษฎรเหล่านั้น”

ต่อมา ความช่วยเหลือที่ต่อเนื่องไปถึงปริมณฑลของแดนราชทัณฑ์อันเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรมนี้ยังได้รับการขยายให้ครอบคลุมไปถึงผู้ต้องขังจากคำพิพากษาในคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองซึ่งเข้าเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือของกองทุนฯ เนื่องจากเราเห็นว่าพวกเขาก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงหรือได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน เช่น บางคนต้องกลายเป็นนักโทษเพราะการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวทำให้พวกเขาไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ บางคนไม่เคยได้ปรึกษาคดีกับทนายความตั้งแต่วันที่ถูกจับกุมจนถึงวันพิพากษา บางคนเป็นนักโทษทางการเมืองจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตที่ตกค้างมา ฯลฯ โดยในปี 2565 กองทุนฯได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขังไปทั้งสิ้น 45 คน ด้วยการฝากเงินช่วยเหลือจำนวน 3,000 บาทต่อเดือน

กล่าวโดยสรุป เงินประกันตัวยังคงเป็นค่าใช้จ่ายหลักมากกว่าร้อยละ 90 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งเป็นเงินส่วนที่เราจะพยายามอย่างดีที่สุดในการบริหารเพื่อให้มันสามารถหมุนวนกลับมาทำหน้าที่ในการเป็นหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมตามเจตนารมณ์ของราษฎรผู้บริจาคต่อไป

ความสูญเปล่าใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในรายทางของทุกองคาพยพในกระบวนการยุติธรรมในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา จักต้องไม่อาจมาล้มล้างเจตจำนงของราษฎรได้ ในทางตรงกันข้าม มันคือสิ่งที่ยิ่งกระตุ้นเตือนให้เราต้องแน่วแน่มั่นคงต่อไป ว่า #ที่พึ่งแรกและที่พึ่งสุดท้ายของราษฎรคือราษฎร

อ่านตอนต่อไป:

ย้อนอ่านตอนที่แล้ว: